เมนูปิด

คำชี้แจงกรมสรรพากร
เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

----------------------------------

                                 ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแรกในปีภาษีนั้น สำหรับเงินได้สุทธิที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เพื่อให้การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป กรมสรรพากรจึงขอชี้แจงในสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

                                 1. ลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยวิธียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรกสำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งเดิมในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ผู้มีเงินได้จะต้องนำเงินได้สุทธิดังกล่าวมาคำนวณภาษีตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ คิดเป็นเงินเท่ากับ 5,000 บาท และเงินได้สุทธิส่วนที่เกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 คิดเป็นเงินเท่ากับ 40,000 บาท แต่เมื่อพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท จะต้องนำเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 150,000 บาท ไปคำนวณตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                                 2. วันใช้บังคับของกฎหมาย
                                      การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้ของปี พ.ศ. 2551 ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป และเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้ออกมาใช้บังคับในวันที่ 29 มีนาคม 2551 จึงมีผลทำให้การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่ได้รับในเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป ผู้จ่ายเงินได้มีสิทธิปรับปรุงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยให้คำนวณภาษีที่พึงต้องเสียตลอดปี พ.ศ. 2551 ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายใหม่ แล้วหักด้วยภาษีที่นำส่งแล้ว จำนวนภาษีที่เหลือให้เฉลี่ยและนำส่งสำหรับเดือนที่เหลือของปี พ.ศ. 2551 เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการขอคืนภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี พ.ศ. 2551


กรมสรรพากร
13 สิงหาคม 2551


สำนักกฎหมาย
โทร. 0-2272-8288

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022