เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 55)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42(8)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2534 และตามความในข้อ 2(38) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ไว้ ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 41) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2534

 

                ข้อ 2  “ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ที่ไม่ใช้เช็คในการถอนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเงินฝากอื่นใด และมีจำนวนดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 177) ใช้บังคับ 27 เมษายน 2552 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 3  ชื่อบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นชื่อของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยนั้น

 

                ข้อ 4  ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 ที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

                ข้อ 5  “กรณีผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 จากทุกธนาคารรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นเกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ให้แจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยแต่ละแห่งได้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นเกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้นให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากนั้นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 181) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 6  ผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 ให้ถือตามหลักเกณฑ์ดังนี้

                           (1) ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันหรือแยกกัน ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี

                           (2) ในกรณีที่ความเป็นสามีภริยาตาม (1) มิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

                           (3) ในกรณีบิดาและหรือมารดาและบุตรผู้เยาว์เป็นผู้ฝากเงินร่วมกันให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วแต่กรณี หรือเป็นเงินได้ของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน

                                 บุตรผู้เยาว์ในวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วยโดยอนุโลม

                           (4) กรณีบิดาและหรือมารดาเป็นผู้ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์

                                 บุตรผู้เยาว์ในวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วยโดยอนุโลม

                           (5) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็นผู้ฝากเงิน ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น

 

                ข้อ 7  ผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาทในแต่ละปีภาษี ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมแสดงบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนต่อธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ก่อนหรือในขณะรับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว และให้ธนาคารแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรดังกล่าวต่อกรมสรรพากร ถ้าผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ให้ผู้มีเงินได้ลงนามรับทราบว่า ถ้าเป็นคนโสดและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้นรวมกันเกิน 30,000 บาท หรือมีคู่สมรสและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้นรวมกันเกิน 60,000 บาท ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น และให้ธนาคารส่งหลักฐานการรับทราบของผู้มีเงินได้รายดังกล่าวต่อกรมสรรพากร

                           ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ต่อไปไม่ต้องแจ้งอีก

                           “การแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรพร้อมแสดงบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้แจ้งเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแทนก็ได้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 139) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป)

 

                "ข้อ 8  ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 ต้องส่งข้อมูลของ ผู้ฝากเงินพร้อมกับรายละเอียดที่ผู้ฝากเงินแจ้งต่อธนาคารตามข้อ 7 ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตท้องที่ที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

                           (1) กรณีบันทึกข้อมูลของผู้ฝากเงินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ส่งสื่อบันทึกข้อมูลของผู้ฝากเงิน ตามรูปแบบ (Format) ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด หรือ

                           (2) กรณีไม่ได้บันทึกข้อมูลของผู้ฝากเงินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด"

( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 114) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

                           การส่งข้อมูลพร้อมรายละเอียดของผู้ฝากเงินตามวรรคหนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ต้องส่งภายในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น และสำหรับรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ต้องส่งข้อมูลพร้อมรายละเอียดดังกล่าวของเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป

 

                ข้อ 9  ในกรณีผู้มีเงินได้ที่ได้ฝากเงินต่อธนาคารก่อนวันที่อธิบดีกรมสรรพากรลงนามในประกาศนี้ การแจ้งเลขประจำตัวและการส่งหลักฐานการรับทราบของผู้มีเงินได้ที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาในข้อ 8 ให้ขยายกำหนดเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2539

 

                ข้อ 10  ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

                ข้อ 11  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2538

 

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022