เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

 เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 156 )

 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน  หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก  หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน  แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

-----------------------------------

   

                          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

 

                         ข้อ 1 ในประกาศนี้

                                “บริษัท” หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

                                “ธุรกิจหลักของกิจการ” หมายความว่า ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการที่กิจการกระทำเป็นปกติ

                               “โครงการ” หมายความว่า โครงการการลงทุนของบริษัทในทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ การต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทต้องจัดทำเป็นแผนโครงการซึ่งได้รับอนุมัติแผนโครงการจากกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท

 

                        ข้อ 2 เงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของกิจการ โดยมีแผนโครงการพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

 

                        ข้อ 3 เงินได้ที่ได้จ่ายตามข้อ 2 ต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินตามโครงการ และต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายซึ่งเป็นมูลค่าของโครงการที่ได้จัดทำเป็นโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยมูลค่าของโครงการนั้น ได้แก่ มูลค่าของทรัพย์สินดังต่อไปนี้

                                (1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ บรรดาที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ

                                (2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาใช้ในธุรกิจหลักของกิจการของบริษัท

                                (3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ ในราชอาณาจักรที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสาร

ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกิจการ

                              มูลค่าของทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ มูลค่าของต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินจนถึงวันที่ทรัพย์สินนั้นใช้การได้ตามประสงค์

 

                       ข้อ 4 ทรัพย์สินซึ่งมูลค่าของทรัพย์สินนั้นรวมเป็นมูลค่าของโครงการตามข้อ 3 ได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                               (1) ต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

                               (2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องได้ทรัพย์สินนั้นมาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามประสงค์ภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป

                               (3) ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่ทรัพย์สินอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามประสงค์

                               (4) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่รวมถึงกรณีทรัพย์สินประเภทยานพาหนะต้องเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ ในราชอาณาจักร

                               (5) ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

                               (6) ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

                               (7) ต้องไม่ใช่ทรัพย์สินในกรณีดังต่อไปนี้ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น

                                      (ก) ทรัพย์สินอันเกิดจากรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539

                                      (ข) เรือลำใหม่ที่ซื้อทดแทนเรือลำเก่าซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 299) พ.ศ. 2539

                                      (ค) อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ซื้อทดแทนอุปกรณ์เดิมซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 436) พ.ศ. 2548

                                      (ง) ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ซื้อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ใช้ในการประกอบกิจการซึ่งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549

 

                 ข้อ 5  การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายตามข้อ 2 ให้บริษัทมีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเงินได้ที่ได้จ่ายซึ่งเป็นมูลค่าของโครงการตามข้อ 3 และเป็นเงินได้ที่จ่ายไปจริง โดยบริษัทได้จ่ายเงินได้ดังกล่าวไปในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น 

 

                      ข้อ 6 กรณีบริษัทได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีใดแล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4 บริษัทไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทต้องนำเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและกรณีที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น บริษัทต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                     ข้อ 7 ในกรณีที่มีปัญหาที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศนี้ได้ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

     ประกาศ ณ วันที่  15  กันยายน  พ.ศ. 2549

              ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์

              (นายศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์)

                อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022