เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)

เรื่อง    กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดี กรมสรรพากรกำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษี ดังต่อไปนี้

 

               ข้อ 1   ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

                            (1) ในใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่าเอกสารออกเป็นชุดไว้ด้วย

                            (2) ในสำเนาของใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่าสำเนาใบกำกับภาษีไว้ด้วย

                                  ข้อความว่าเอกสารออกเป็นชุดและสำเนาใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 182) ใช้บังคับ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 2  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นตามข้อ 1 แต่ไม่มีข้อความว่าเอกสารออกเป็นชุดก็ให้ยังคงใช้เป็นใบกำกับภาษีได้ต่อไปจนกว่าเอกสารทางการค้าซึ่งได้มีอยู่เดิมก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับจะหมดไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2535

 

                ข้อ 3  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง และสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ จะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ" ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวโดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

 

                ข้อ 4  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์ ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ เลขทะเบียนรถยนต์ ไว้ในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 52) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 5  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษีด้วย โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

                             อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 186) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 6  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ มารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุขอ้ความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษีด้วย

                             (1) ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

                             (2) ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

                             (3) ผลต่างระหว่างราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตาม (1) กับราคาซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศตาม (2)

                             (4) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจาก (3)

                             (5) หมายเลขลำดับของใบรับที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีด้วย ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของใบรับ

                             (6) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

                                  ข้อความตามวรรคหนึ่ง จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

 

               ข้อ 7   ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

               ข้อ 8   ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการ จดทะเบียนตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้ออกใบกำกับภาษี ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ดังนี้

                                 (1) กรณีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียน เป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้ออกใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความ คำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ” “HO” “HQ” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                                 (2) กรณีสถานประกอบการที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้ออกใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..” โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 สาขาที่ 01 เป็นต้น หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น “สาขาที่ ..” เช่น “Branch No. ..” “br. no. ..” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ ..” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                                 (3) ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตาม (1) และ (2) จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

               ข้อ 9   ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ดังนี้

                                 (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ” “HO” “HQ” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                                 (2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสาขาตามที่ปรากฏ ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการใน ใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..” โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ปรากฏใน ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 สาขาที่ 01 เป็นต้น หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น “สาขาที่ ..” เช่น “Branch No. ..” “br. no. ..” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ ..” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                                 (3) ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตาม (1) และ (2) จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป)

               ข้อ 10   ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แทนใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 3 โสฬสแห่งประมวลรัษฎากรตามที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุข้อความว่า “เป็นการยกเลิกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างย่อเลขที่ ... วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ... และออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ใหม่แทน” ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

               ข้อ 11   ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยการใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยการจัดทำสิ่งพิมพ์ออกของใบกำกับภาษีนั้นตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุข้อความว่า “เอกสารนี้ได้จัดทำและส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 247) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป)

 

                ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535

 

โกวิทย์ โปษยานนท์

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-01-2023