เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 36)

 เรื่อง กำหนดประเภทเงินได้พึงประเมินเพื่อยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการมอบอำนาจให้บุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้

 

---------------------------

 

 

                           อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6(22) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 281) พ.ศ.2538 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดประเภทเงินได้พึงประเมิน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อยกเว้นอากรแสตมป์ สำหรับการมอบอำนาจให้บุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ดังต่อไปนี้

 

                           ข้อ 1  ผู้มอบอำนาจต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยสื่อคอมพิวเตอร์และได้รับอนุมัติแล้ว

 

                           ข้อ 2  ผู้มอบอำนาจต้องมีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร และคู่สมรสฝ่ายภริยาต้องมีเงินได้พึงประเมินเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และได้แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร

 

                           ข้อ 3  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยสื่อคอมพิวเตอร์จะต้องส่งแผ่นบันทึก แถบบันทึก หรือสื่อบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ตามเงื่อนไข ดังนี้

 

                                      (1) กรณีแถบบันทึกข้อมูล (TAPE) ต้องมีคุณสมบัติ

                                            (ก) เป็น NON-STANDARD (NO LABEL) เท่านั้น

                                            (ข) เป็น TAPE 9 TRACKS มี DENSITY 1,600 B.P.I.หรือ 6,250 B.P.I

                                            (ค) ใช้ EBCDIC CODE ของ IBM หรือ UNIVAC หรือ NEC ในการบันทึกข้อมูล

 

                                      (2) กรณีแผ่นบันทึก (DISKETTE) ต้องมีคุณสมบัติ

                                            (ก) ขนาด 31/2 นิ้ว แบบ HIGH DENSITY

                                            (ข) รหัสภาษาไทยที่ใช้บันทึกข้อมูลต้องใช้รหัส สมอ

                                            (ค) FILE ข้อมูลที่จัดทำต้องเป็น TEXT FILE ชนิด STANDARD FILE ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการกับ TEXT FILE ที่ TRANSFER มาจาก FILE ของ DBASE III ที่ใช้คำสั่ง COPY DBASE FILE มาเป็น TEXT FILE ชนิด STANDARD FILE โดยใช้คำสั่ง USE (FILE NAME) และ COPY TO (FILE NAME) TXT SDF

 

                                      (3) สำหรับ FILE NAME ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษต้องไม่เกิน 8 CHARACTERS โดยมี RECORD FORMAT (RECORD SIZE = 110 CHARACTERS และ BLOCK SIZE = 10 RECORD) ดังนี้

FIELD NOCOLUMNข้อมูลที่บันทึก
11 - 10เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของหน่วยงาน/บริษัท
211 - 20รหัสหน่วยงาน/แผนก/สาขาที่พนักงาน ลูกจ้างสังกัดอยู่
321 - 30รหัสประจำตัวหรือลำดับที่ของพนักงาน ลูกจ้าง
431 - 40เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของพนักงาน ลูกจ้าง
541 - 50คำนำหน้าชื่อ (ของพนักงาน ลูกจ้าง)
651 - 80ชื่อ
781 - 110นามสกุล

 

 

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2538

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022