เมนูปิด
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้
เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือ
หน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
----------------------------------------
                              อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ดังต่อไปนี้
                     ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544
 
                     ข้อ 2 เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
                        (1) “การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง ต้องมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 259) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป)
                        (2) ผู้มีเงินได้จะต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และไถ่ถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวเมื่อผู้มีเงินได้นั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
                        ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย
                        (3) ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับเงินปันผลหรือเงินอื่นใดจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในระหว่างการลงทุน และต้องได้รับคืนเงินลงทุนและผลประโยชน์จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเท่านั้น
                        (4) ผู้มีเงินได้ต้องไม่กู้ยืมเงินหรือเบิกเงินจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้
 
                   ข้อ 3 กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเกินกว่าหนึ่งกองทุน เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในแต่ละกองทุน ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 2
                        “การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง ต้องมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี หรือมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 259) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป)
 
                   ข้อ 4 กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 หรือข้อ 3 ในปีใด เมื่อผู้มีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมตามข้อ 9 แล้ว และได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ยังคงเหลืออยู่เมื่อผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพต่อไป โดยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2 และข้อ 3 นับตั้งแต่ปีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้นับระยะเวลาที่ได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพก่อนปีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมรวมเข้าด้วย
 
                   ข้อ 5 กรณีผู้มีเงินได้ได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทุพพลภาพ ผู้มีเงินได้จะไม่ซื้อหน่วยลงทุนต่อไป หรือจะซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพปีใดปีหนึ่งและจะซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 2(1) และข้อ 3 วรรคสอง
 
                   ข้อ 6 กรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหนึ่งทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น ไม่ว่าจะโอนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพใดกองทุนรวมหนึ่งหรือหลายกองทุนรวมผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่นภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่โอนได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้
                        การโอนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานการโอนส่งมอบให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
 
                   ข้อ 7 “ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ให้ยกเว้นเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 259) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป)
                        กรณีผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนด้วย เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
                        ในปีภาษี 2551 หากผู้มีเงินได้มีการซื้อหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 700,000 บาท สำหรับปีภาษี 2551 โดยการซื้อหน่วยลงทุนนั้นจะเริ่มซื้นหรือซื้อเพิ่มเติมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ได้ และในกรณีผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมตามวรรคสองด้วยให้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นดังกล่าวเมื่อรวมกับเงินสะสมแล้วต้องไม่เกิน 700,000 บาท
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 173) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป )
 
                       ข้อ 7/1 “กรณีผู้มีเงินได้ได้มาซึ่งหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งเป็นการได้มาจาก การโอนหรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้เกิดจากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามข้อ 2(1) การได้มาซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 7 ”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 288) ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2559 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)
 
                   ข้อ 8 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
 
                   ข้อ 9 กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 7 แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4 ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 7 และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
                        ในการเสียภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้อนุมัติขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมสำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้แล้วได้ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 ข้อ 3 หรือข้อ 4 โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
 
                  ข้อ 10 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
 
                   ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
 
ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2551
วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร
 
 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022