เมนูปิด
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
 ของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร

---------------------------------------

                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 484) พ.ศ. 2552 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ดังต่อไปนี้

                   ข้อ 1 ต้องเป็นการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และต้องเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือน นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552
                           บริษัทในเครือเดียวกันตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกัน โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้นเว้นแต่การถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ถูกถือหุ้นภายหลังการโอนกิจการโดยการถือหุ้นยังคงมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ บริษัทผู้รับโอนกิจการ
                           ทั้งนี้ บริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องมีทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนและชำระแล้วไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินสุทธิที่โอน

                   ข้อ 2 ก่อนที่จะมีการโอนกิจการ บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องร่วมกันทำหนังสือแจ้งการโอนกิจการและส่งแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมกับแสดงรายการทรัพย์สินที่โอน ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้โอนกิจการตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับบริษัทผู้โอนกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ตามแบบที่กำหนดในประกาศนี้
                           บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

                   ข้อ 3 ต้องเป็นการโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับประเภทของกิจการที่โอนนั้น ซึ่งมิใช่เป็น
การขายอันเป็นปกติธุระ และบริษัทผู้รับโอนกิจการต้องนำไปดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกันหรือ กิจการที่เกี่ยวเนื่องต่อไป
                           การโอนทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนนั้นตามราคาตลาดในวันที่โอนได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4)แห่งประมวลรัษฎากร

                   ข้อ 4 กรณีบริษัทผู้โอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องนำสินค้าหรือทรัพย์สินที่รับโอนนั้นไปใช้
ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทโดยตรง

                   ข้อ 5 บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างของกรมสรรพากร ณ วันที่โอนกิจการ เว้นแต่จะได้มีการค้ำประกันหนี้ภาษีอากรตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว

                   ข้อ 6 ผู้สอบบัญชีของบริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 128) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 67 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 และเป็นผู้รับรองผลการประกอบกิจการและการเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตามข้อ 1

                   ข้อ 7 กำหนดให้แบบต่อไปนี้ เป็นแบบเกี่ยวกับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร
                           (1) แบบ อ.บ.1 หนังสือแจ้งการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
                           (2) แบบ อ.บ.2 แบบแจ้งรายการทรัพย์สินที่โอน
                           (3) แบบ อ.บ.3 แบบแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด
                           (4) แบบ อ.บ.4 แบบหนังสือรับรองการเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน

                   ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประกาศ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022