เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 190)
เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย
การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร
และการเก็บรักษารายงาน ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร


                             อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/8 และมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน การจัดทำรายงาน และการเก็บรักษารายงานไว้ดังนี้

                             ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 และการเก็บรักษารายงานตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงาน ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

                             ข้อ 2 กำหนดให้การประกอบกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขายน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติดังต่อไปนี้ เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก

                                     (1) เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเป็นผู้ได้รับอนุมัติจดทะเบียนจัดตั้งสถานีบริการค้าน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขายน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ โดยเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นถังใต้ดินซึ่งมีความจุใบละ 5,000 ลิตรขึ้นไป ไม่ว่าจะมีถังลอยรวมอยู่ในสถานีบริการด้วยหรือไม่ หรือที่เป็นถังลอยอย่างเดียว รวมถึงสถานีบริการที่ใช้ถังลอยเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียว และ
                                     (2) เป็นสถานีบริการที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก
                                     คำขออนุมัติให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยจะต้องแนบเอกสารและรายการดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขออนุมัติ
                                     (ก) สำเนา ภ.พ. 20

                                     (ข) สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันหรือใบทะเบียนจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง

                                     (ค) แผนผังแสดงที่ตั้ง พร้อมทั้งจำนวนหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง

                             ข้อ 3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรตามที่ผู้ซื้อสินค้าเรียกร้องทุกครั้งพร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้า

                             ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ต้องจัดทำรายงานแสดงรายละเอียด การขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เพื่อประกอบการบันทึกยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งวันในรายงาน ภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร และให้ถือรายงานแสดงรายละเอียดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย โดยให้จัดทำแยกเป็นรายสถานบริการ

                                     รายงานตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
                                     (1) จำนวนสินค้าคงคลังในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันเปิดสำรวจแต่ละเดือน (ใช้ไม้วัด เครื่องวัดถังไฟฟ้า หรือมาตรวัดปริมาณความจุของถัง)
                                     (2) การรับมอบน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างเดือน และเลขลำดับแสดงจำนวนครั้งที่รับมอบน้ำมันเชื้อเพลิงในระหว่างเดือน พร้อมทั้งหมายเลขของใบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือใบกำกับ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้แยกเป็นรายบริษัทผู้ค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
                                     (3) จำนวนสินค้าคงคลังในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันปิดสำรวจแต่ละเดือน (ใช้ไม้วัด เครื่องวัดถังไฟฟ้า หรือมาตรวัดปริมาณความจุของถัง)
                                     (4) จำนวนเงิน (บาท) และปริมาณน้ำมัน (ลิตร/กิโลกรัม) ในมิเตอร์หัวจ่าย ณ วันเปิดอ่านในแต่ละเดือน
                                     (5) จำนวนเงิน (บาท) และปริมาณน้ำมัน (ลิตร/กิโลกรัม) ในมิเตอร์หัวจ่าย ณ วันปิดอ่านในแต่ละเดือน
                                     (6) ยอดการขายประจำวัน ทั้งจำนวนเงิน (บาท) และปริมาณน้ำมัน (ลิตร/กิโลกรัม)
                                     (7) จำนวนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งสะสมในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคำนวณจากรายงานสินค้าคงคลังสะสม (จำนวนสินค้าคงคลังในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันเปิดสำรวจ + จำนวนซื้อ - จำนวนขาย) กับจำนวนสินค้าคงคลังสะสมในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง
                                     (8) ภาษีซื้อ
                                     (9) ภาษีขาย
                                     (10) จำนวนใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ออกตามข้อ 3 ประจำวัน และจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นตามใบกำกับภาษี
                                     ใบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ประกอบการลงรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดเก็บแยกเป็นรายเดือน เป็นรายบริษัทผู้ค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเรียงตามลำดับที่ได้รับก่อนหลังในแต่ละเดือนและให้ระบุเลขที่ที่ได้รับใบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งแยกเป็นรายบริษัทผู้ค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละเดือน เรียงตามลำดับขึ้นใหม่ทางด้านบนขวาของใบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น
                                     รายงานตามวรรคหนึ่งและใบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เก็บไว้ที่สถานีบริการเป็นรายสถานีเป็นเวลาสองปี ภายหลังจากนั้นจะเก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่จนครบห้าปีก็ได้

                             ข้อ 5 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ต้องจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงมิเตอร์หัวจ่ายทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น

                                     (1) ตัวเลขมิเตอร์หัวจ่ายเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง ตัวเลขมิเตอร์หรือซ่อมแซมมิเตอร์หัวจ่าย
                                     (2) การติดตั้งอุปกรณ์หัวจ่ายใหม่
                                     (3) การหมุนกลับของตัวเลขมิเตอร์หัวจ่าย (เช่น มิเตอร์กลับมาที่เลข 0 หลังจากถึงเลขสูงสุด)

                             ข้อ 6 การจัดทำรายงานตามข้อ 4 ให้คำนวณจำนวนน้ำมันเชื้อเพลิงในถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขาดหายไปเนื่องจากการระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงตามสภาพปกติได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายผ่านมิเตอร์หัวจ่ายในแต่ละเดือนภาษี

                             ข้อ 7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 2 ซึ่งให้ส่วนลดแก่ลูกค้าบางรายในราคา ที่ต่ำกว่าราคาที่แสดงอยู่ในมิเตอร์หัวจ่ายต้องออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว

                             ข้อ 8 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร เป็นผู้ประกอบการรายย่อยตามข้อ 2 จะต้องจัดทำแผ่นป้ายที่มีข้อความ "เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์ หัวจ่าย" โดยแผ่นป้ายดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามแบบที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

                            แผ่นป้ายตามวรรคหนึ่งจะต้องแสดงไว้ ณ จุดแสดงราคาขายน้ำมันเชื้อเพลิงปลีกต่อหน่วย ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (ถ้ามี) หากผู้ประกอบการ จดทะเบียนมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงแผ่นป้ายไว้ ณ สถานที่อื่น จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

                            แผ่นป้ายตามวรรคหนึ่งจะต้องมีขนาดของข้อความอย่างน้อยเท่ากับขนาด ของข้อความแสดงราคาขายน้ำมันเชื้อเพลิงปลีกต่อหน่วย

                             ข้อ 9 สถานีบริการซึ่งเริ่มประกอบกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป และมีหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ 50 หัวจ่ายขึ้นไป ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์รวม ควบคุมการจ่ายน้ำมันของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการทั้งหมด

                             ข้อ 10 การยื่นคำขออนุมัติตามข้อ 2 ให้ปฏิบัติ ดังนี้

                                     (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขต ท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
                                     (2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการตั้งอยู่นอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
                                     กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการแต่ละแห่งตั้งอยู่
                                     นอกจากการยื่นคำขออนุมัติตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะยื่นคำขอโดยยื่นรายการข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th ก็ได้ โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ยื่นคำขออนุมัติต้องแสดงรายการข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน และต้องมีหลักฐานเอกสารตามรายการข้อมูลที่แสดงในคำขออนุมัติด้วย

                             ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

สาธิต รังคสิริ
(นายสาธิต รังคสิริ)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022