เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/15024
วันที่: 31 ตุลาคม 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและขายเวชภัณฑ์ยา เมล็ดพันธุ์พืช อันได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม ซึ่งบริษัทฯ จะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมจากเกษตรกรตามแหล่งต่าง ๆ ที่ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมจากเมล็ดพันธุ์พ่อและเมล็ดพันธุ์แม่ของบริษัทฯ เพื่อเข้ามาทำการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ตามขั้นตอนกรรมวิธีของบริษัทฯ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมมีคุณสมบัติที่สามารถต่อต้านอันตรายที่เกิดจากเชื้อราและแมลงศัตรูพืชขณะที่นำไปปลูก และเพื่อคงสภาพและคุณสมบัติดังกล่าวของเมล็ดพันธุ์นี้ไว้ให้ยาวนาน เพื่อรอการจำหน่ายในฤดูกาล จากนั้นจึงขายให้แก่เกษตรกรทั่วไป เพื่อนำไปเพาะปลูกเป็น "ข้าวโพด" ที่ใช้บริโภคหรือใช้เป็นอาหารสัตว์ต่อไป
    1. เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมของบริษัทฯ ถือว่าเป็นข้าวโพดตามความหมายที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร เนื่องจาก "ข้าวโพด" ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ข้อ 3(4) บริษัทฯ เข้าใจว่าเป็นข้าวโพดที่นำไปใช้บริโภคหรือใช้เป็นอาหารสัตว์ได้โดยตรง ถูกต้องหรือไม่
    2. หาก "ข้าวโพด" ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ข้อ 3(4) รวมถึง "เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม" ดังกล่าวแล้ว กรณีที่บริษัทฯ รับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมจากเกษตรกรและส่งออกไปต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 0.75 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 หรือไม่ และจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อไร
แนววินิจฉัย: เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมของบริษัทฯ ถือเป็นข้าวโพด แต่กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินค่าซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมจากเกษตรกร ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.56/2538 ฯ ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538 บริษัทฯ จึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่ประการใด
เลขตู้: 60/26018

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020