เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/16103
วันที่: 25 พฤศจิกายน 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกิจการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 31 และหรือมาตรา 35(2)แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ในการยกเว้นและหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล มีปัญหาข้อกฎหมายบางประการ ที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร ในประเด็นดังต่อไปนี้
    1. ข้อตกลงตามรายงานการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนกรมสรรพากร กับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2 วันที่ 11 กรกฎาคม 2533 กรณีกำไรจากการปริวรรตเงินตรา และดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้ถือเป็นรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่หรือไม่
    2. กรณีดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการนำเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินและเฉพาะการฝากเงินประเภทออมทรัพย์ที่ใช้สมุดคู่ฝากในการฝากถอน และไม่ใช้เช็คในการถอนเท่านั้น โดยคำนวณดอกเบี้ยรวมกันไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน สำหรับเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวไม่รวมถึงเงินกู้ยืมที่นำมาใช้ในกิจการตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จะได้รับยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
    3. กรณีรายได้อื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จะได้รับยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยหรือไม่
    4. การลดหย่อนภาษีเงินได้ตามมาตรา 35(2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรา 35(2) จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย:   1. กรณีตาม 1. ข้อตกลงตามรายงานการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนกรมสรรพากร กับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2 วันที่ 11 กรกฎาคม 2533 เป็นการร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรณีมีกำไรจากการปริวรรต และดอกเบี้ยเงินฝากที่จะถือเป็นรายได้จากการประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามนัยข้อ 2.4 แห่งประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 นั้น ปัจจุบันยังคงมีผลใช้บังคับอยู่
   2. กรณีตาม 2. ดอกเบี้ยที่เกิดจากการนำเงินทุนหมุนเวียนไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินเฉพาะการฝากเงินประเภทออมทรัพย์ที่ใช้สมุดคู่ฝากในการฝากถอน และไม่ใช้เช็คในการถอน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับดอกเบี้ยรวมกันไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่เนื่องจากในขณะที่จ่ายดอกเบี้ยนั้นผู้จ่ายไม่สามารถทราบได้ว่าดอกเบี้ยที่จ่ายมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ทั้งสิ้นของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้จ่ายดอกเบี้ย จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
   3. กรณีตาม 3. รายได้อื่นที่ได้จากการประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน จะไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด โดยให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนำสำเนาบัตรส่งเสริมที่ได้รับไปแสดงต่อผู้จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานการได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกครั้งที่มีการทำสัญญาหรือมีการจ่ายเงินดังกล่าวด้วย
   4. กรณีตาม 4. การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติตามมาตรา 35(2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 นั้น ผู้จ่ายเงินได้ประเภทที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนข้างต้น ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามปกติ เนื่องจากเป็นการได้รับสิทธิและประโยชน์ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น มิใช่เป็นการให้ลดหย่อนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 50 ของอัตราปกติแต่อย่างใด
เลขตู้: 60/26102

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020