เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/17901
วันที่: 31 ธันวาคม 2540
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ยืม
ข้อกฎหมาย: ประเด็นปัญหา
ข้อหารือ: บริษัท ประกอบกิจการขายรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ ในการประกอบธุรกิจ บริษัทฯ ได้กู้ยืม
เงินจากธนาคารและสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพิจารณาให้บริษัทฯ กู้ยืมเงิน จึงจำเป็นต้องมีหนังสือค้ำประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในการกู้ยืมของผู้ให้กู้ บริษัท ในต่างประเทศ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย มีสถานประกอบการที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจการค้าทั่วไป มิใช่สถาบันการเงิน ได้ทำสัญญาค้ำประกันเพื่อออกหนังสือค้ำประกันการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในการกู้ยืมของบริษัทฯ ที่ได้กู้ยืมจากธนาคารต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อเป็นการตอบแทนการออกหนังสือค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว บริษัท ในต่างประเทศ จึงคิดค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันเงินกู้ยืม ในอัตราร้อยละ 0.5 (0.5%) ต่อปี ของยอดเงินที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมตามระยะเวลาของการกู้ยืมและถ้าการชำระเงินค่าธรรมเนียมล่าช้า บริษัทฯจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในเงินดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยคิด 360 วันเป็นหนึ่งปี สำหรับรอบระยะเวลานับจากวันถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียม จนถึงวันที่บริษัทในต่างประเทศ ได้รับการจ่ายค่าธรรมเนียมเต็มจำนวน บริษัทฯ จึงหารือว่า เมื่อบริษัทฯ ส่งเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ยืม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้และนำส่งหรือไม่ นั้น
แนววินิจฉัย

:  1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้ บริษัท ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นำส่งกรมสรรพากร ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

   2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันล่าช้า ทำให้บริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินดังกล่าวให้บริษัทในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการกู้ยืม ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีนำส่ง ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 11 วรรค 2(ข) และวรรค 4 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น

เลขตู้: 60/26268

 

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020