เมนูปิด

บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 80_82

             มาตรา 80 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 10.0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา 80/2
            (1) การขายสินค้า
            (2) การให้บริการ
            (3) การนำเข้า
            อัตราภาษีตามวรรคหนึ่งให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกันสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ และการนำเข้าทุกกรณี
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 479) พ.ศ.2551 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 549) พ.ศ.2555 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 592) พ.ศ.2558 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 646) พ.ศ.2560 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 669) พ.ศ.2561 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 684) พ.ศ.2562 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 715) พ.ศ.2563 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 724) พ.ศ.2564 )

             มาตรา 80/1 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
            (1) การส่งออกสินค้าที่มิใช่การส่งออกสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (3)
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543 )
            (2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) )
            การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ให้รวมถึงการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออก และการให้บริการที่กระทำในเขตดังกล่าวเพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกด้วย
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.104/2544 )
            (3) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล
            (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 33) พ.ศ.2541 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2542 เป็นต้นไป )
            (4) การขายสินค้าหรือการให้บริการกับกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28) )
            (5) การขายสินค้าหรือการให้บริการให้แก่
                  (ก) องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล
                  (ข) องค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงที่จะต้องปฏิบัติเท่าเทียมกับสถานเอกอัครราชทูต องค์การสหประชาชาติหรือทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
                  (ค) สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
                  ทั้งนี้ เฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 49) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 227) )
            (6) การขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากร ไม่ว่าจะอยู่ในเขตเดียวกันหรือไม่ หรือระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากร ทั้งนี้ เฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 ) ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 123) )
            คลังสินค้าทัณฑ์บนตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึงคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

             มาตรา 80/2 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 2.5 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร ซึ่งกิจการดังกล่าวต้องคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16
            อัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกันสำหรับการขายสินค้าและการให้บริการทุกกรณี
            ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 )

             มาตรา 81 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
            (1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการดังต่อไปนี้
                  (ก) การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่น ๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งด้วยการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือด้วยการจัดทำหรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่งด้วยวิธีการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง ทำให้แห้ง บด ทำให้เป็นชิ้น หรือด้วยวิธีอื่น ข้าวสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว แต่ไม่รวมถึงไม้ซุง ฟืน หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลื่อยไม้ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรมตามลักษณะและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
                  ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 23/2536 )
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 3) )
                  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.28/2535 )
                  (ข) การขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิตไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งด้วยการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือด้วยการจัดทำหรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่งด้วยวิธีการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง ทำให้แห้ง บด ทำให้เป็นชิ้น หรือด้วยวิธีอื่น แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรมตามลักษณะและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
                  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.29/2535 )
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 3) )
                  (ค) การขายปุ๋ย
                  (ง) การขายปลาป่น อาหารสัตว์
                  (จ) การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์
                  (ฉ) การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
                  ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 32/2538 )
                  (ช) การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
                  (ซ) การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 11) )
                  (ฌ) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพอิสระนั้น
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 217) )
                  (ญ) การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
                  (ฎ) การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ทั้งนี้ ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) )
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 238) )
                  (ฏ) การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
                  (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
                  (ฑ) การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
                  (ฒ) การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ ทั้งนี้ เฉพาะบริการในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
                  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
                  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 13) )
                  (ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 241) พ.ศ. 2534 )
                  (ด) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล
                  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.49/2537 )
                  (ต) การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
                  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.90/2542 )
                  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.107/2544 )
                  (ถ) การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
                  (ท) การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
                  (ธ) การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
                  (น) การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 321) พ.ศ.2541 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 327) พ.ศ.2541 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 333) พ.ศ.2541 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 336) พ.ศ.2541 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 343) พ.ศ.2541 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 347) พ.ศ.2542 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 370) พ.ศ.2543 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 401) พ.ศ.2545 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 403) พ.ศ.2545 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 404) พ.ศ.2545 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 408) พ.ศ.2545 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 448) พ.ศ.2549 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 486) พ.ศ.2552 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 489) พ.ศ.2552 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 510) พ.ศ.2554 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 546) พ.ศ.2555 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 585) พ.ศ.2558 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 608) พ.ศ.2559 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 662) พ.ศ.2561 )
                  ( ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 759) พ.ศ.2565 )
            (2) การนำเข้าสินค้าดังต่อไปนี้
                  (ก) สินค้าตาม (1) (ก) ถึง (ฉ)
                  (ข) สินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากร ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
                  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
                  (ค) สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
                  (ง) สินค้าซึ่งนำเข้าและอยู่ในอารักขาของศุลกากร แล้วได้ส่งกลับออกไปต่างประเทศ โดยได้คืนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
            (3) การส่งออกซึ่งสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16
            การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการตามมาตรานี้ อธิบดีจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดลักษณะของกิจการและเงื่อนไขในการประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรานี้ก็ได้ และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้วให้ประกาศคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และหากกิจการนั้นมิได้เป็นไปตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนด กิจการนั้นจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรานี้

             มาตรา 81/1 ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
            พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งจะกำหนดจำนวนมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมให้แตกต่างกันในกิจการแต่ละประเภทไม่ได้ แต่จำนวนมูลค่าของฐานภาษีที่กำหนดจะต้องไม่น้อยกว่า 600,000 บาทต่อปี
            ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )

             มาตรา 81/2 กิจการใดได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามส่วนนี้หรือตามกฎหมายอื่นให้ผู้ประกอบการได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามหมวดนี้ แต่อธิบดีจะกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำรายงานตามส่วน 11 ก็ได้

             มาตรา 81/3 ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนดเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวดนี้ได้โดยต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
            (1) กิจการขายสินค้าตามที่ระบุไว้ในมาตรา 81 (1) (ก) ถึง (ฉ)
            (ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545)
            (2) กิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1
            (3) กิจการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
            (ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 241) พ.ศ. 2534)
            (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236))
            (ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 521) พ.ศ.2554)
            (ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 746) พ.ศ.2565)
            เมื่อผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 (2) แล้ว ผู้ประกอบการดังกล่าวจะเลิกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/10 (3) และอธิบดีได้สั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

             มาตรา 82 ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติในหมวดนี้
            (1) ผู้ประกอบการ
            (2) ผู้นำเข้า

             มาตรา 82/1 เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
            (1) ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ได้แก่ ตัวแทนดังกล่าว
            (2) ในกรณีการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) ถ้าภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือโอนสิทธิในบริการนั้นไปให้กับบุคคลที่มิใช่องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ได้แก่ ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการดังกล่าว
            (3) ในกรณีสินค้านำเข้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ได้แก่
                   (ก) ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
                   (ข) ผู้รับโอนสินค้า ถ้ามีการโอนสินค้าดังกล่าว
            (4) ในกรณีที่มีการควบเข้ากัน ได้แก่ ผู้ที่ควบเข้ากันและผู้ประกอบการใหม่
            (5) ในกรณีโอนกิจการ ได้แก่ ผู้โอนและผู้รับโอน

             มาตรา 82/2 ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการ รวมตลอดถึง ลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรงหรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร่วมกับบุคคลตามมาตรา 82

             มาตรา 82/3 ภายใต้บังคับมาตรา 82/7 มาตรา 82/8 และมาตรา 82/16 ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี
            หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น
            หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามส่วน 8
            ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีตามวรรคหนึ่งเพราะมีเหตุจำเป็นตามที่อธิบดีกำหนด ให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ได้มีการออกใบกำกับภาษี
            ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) )

             มาตรา 82/4 ภายใต้บังคับมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 และมาตรา 83/7 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยคำนวณจากฐานภาษีตามส่วน 3 และอัตราภาษีตามส่วน 4
            บทบัญญัติมาตรานี้มิได้เป็นการห้ามผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะเสนอหรือแสดงราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้แจ้งให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทราบด้วยหรือไม่ก็ตาม
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.27/2535 )
            ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรานี้ ย่อมเป็นภาษีขายของผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น
            ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนใดถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามมาตรานี้ เนื่องจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตน ย่อมเป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น

             มาตรา 82/5 ภาษีซื้อในกรณีดังต่อไปนี้ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3
            (1) กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่เป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) )
            (2) กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) )
            (3) ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) )
            (4) ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) )
            (5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามส่วน 10
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) )
            (6) ภาษีซื้อตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 121) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 129) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 151) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 250) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 252) )

             มาตรา 82/6 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29))
            (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236))

             มาตรา 82/7 ในการขายยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามมาตรา 79/5 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ โดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79/5 (2) ของส่วน 3 และอัตราภาษีตามส่วน 4 สำหรับการขายทุกทอด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 10) )

             มาตรา 82/8 ในการขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมาตรา 79/6 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ โดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79/6 (2) (ก) หรือ (ข) ของส่วน 3 และอัตราภาษีตามส่วน 4 สำหรับการขายทุกทอด

             มาตรา 82/9 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการและได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แล้ว ต่อมาหากมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวนำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นนั้นมารวมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ถือเป็นภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9
            (1) มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
            (2) มีการเพิ่มราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้ นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบเพิ่มหนี้ดังกล่าวมาหักออกในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ถือเป็นภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบเพิ่มหนี้นั้น

             มาตรา 82/10 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการและได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แล้ว ต่อมาหากมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวนำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10
            (1) มีการลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
            (2) มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากการให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
            (3) ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา หรือเนื่องจากเหตุอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
            (4) มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากเหตุและตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) )
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบลดหนี้ นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ดังกล่าวมาหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้นั้น

             มาตรา 82/11 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการและได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แล้ว ต่อมาหากมีหนี้สูญเกิดขึ้นจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และการจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าวได้เป็นไปตามจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้มีการจำหน่ายหนี้สูญ
            การคำนวณส่วนของหนี้สูญเพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            หนี้สูญรายใดที่ได้จำหน่ายไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับชำระในภายหลัง ให้นำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญตามวรรคหนึ่งที่ได้รับชำระดังกล่าวมารวมเป็นภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้รับชำระ
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 149) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 เป็ฯต้นไป )
            ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 157) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2547 เป็ฯต้นไป )

             มาตรา 82/12 ในการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือโอนสิทธิในบริการอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น โดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79/3 (4) ของส่วน 3 และอัตราภาษีตามมาตรา 80

             มาตรา 82/13 ในกรณีที่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นโดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามส่วน 3 และอัตราภาษีตามมาตรา 80 หรือมาตรา 80/1 แล้วแต่กรณี
            ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.104/2544 )
            ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามมาตรา 83
            ในกรณีผู้ประกอบการตามวรรคสอง ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบบริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ
             (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 10 ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป)
             (ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ)
             (ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ)
             (ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2)
             มาตรา 82/14 ให้ผู้นำเข้าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและชำระภาษีสำหรับสินค้านำเข้าเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามส่วน 3 และอัตราภาษีตามมาตรา 80
             มาตรา 82/15 ในการนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้รับโอนสินค้าที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (3) เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นโดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79/2 (2) ของส่วน 3 และอัตราภาษีตามมาตรา 80
             มาตรา 82/16 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบกิจการเฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร และกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แต่ไม่เกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากฐานภาษีในเดือนภาษีตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ในมาตรา 80/2
            ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 22/2536 )
            ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 )
            ในการคำนวณฐานภาษีตามวรรคหนึ่งมิให้นำมาตรา 79 วรรคสาม (3) มาใช้บังคับ
            ห้ามมิให้ผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่งซึ่งได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการตามมาตรา 82/4 หรือออกใบกำกับภาษี

             มาตรา 82/17 บทบัญญัติมาตรา 82/16 มิได้เป็นการห้ามผู้ประกอบการที่จะใช้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กำหนดในมาตรา 82/3 แต่เมื่อใช้สิทธิดังกล่าวแล้วจะขอให้นำมาตรา 82/16 มาใช้บังคับอีกไม่ได้

             มาตรา 82/18 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 แจ้งให้อธิบดีทราบในกรณีและภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
            (1) สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประสงค์จะคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 ให้แจ้งต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            (2) สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต่อมามีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 82/16 ให้แจ้งต่ออธิบดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
            ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 และไม่มีสิทธิคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 อีกต่อไป
            ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคสอง ห้ามมิให้นำภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บในขณะที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3

 

ปรับปรุงล่าสุด: 30-10-2023