เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/662
วันที่ :   3 กุมภาพันธ์ 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ กรณีทำสัญญาจ้างที่ปรึกษา วิจัย และฝึกอบรมต่าง ๆ
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 2 มาตรา 39 มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 มาตรา 81 (1) (ฎ) มาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
ข้อหารือ :   หน่วยงาน ก. เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานฯ) ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ และมิได้ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบพาณิชย์ ได้ทำสัญญารับจ้างเป็นที่ปรึกษา วิจัย และฝึกอบรมต่าง ๆ กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย :   กรณีหน่วยงาน ก. ได้ทำสัญญารับจ้างเป็นที่ปรึกษา วิจัยและฝึกอบรมต่าง ๆ เป็นการรับทำงานให้ โดยมุ่งผลสำเร็จของงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มีภาระภาษี ดังนี้
    1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หน่วยงาน ก. มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับของสำนักงานฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินได้จากค่ารับจ้างเป็นที่ปรึกษา วิจัยและฝึกอบรมต่าง ๆ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
    2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่หน่วยงาน ก. ได้ทำสัญญารับจ้างเป็นที่ปรึกษา วิจัยและฝึกอบรมต่าง ๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการให้บริการวิจัย หากเข้าลักษณะเป็นการให้บริการวิจัยหรือการให้บริการทางวิชาการ มีข้อพิจารณา ดังนี้
        2.1 กรณีที่หน่วยงาน ก. มีการให้บริการวิจัยหรือให้บริการทางวิชาการให้แก่หน่วยงานของรัฐ ที่มีฐานะเป็น กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะ เป็นนิติบุคคล การให้บริการดังกล่าวของหน่วยงาน ก. จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) เรื่อง กำหนดสาขาและลักษณะการประกอบกิจการ การให้บริการวิจัยหรือการให้บริการทางวิชาการ ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
        2.2 กรณีที่หน่วยงาน ก. มีการให้บริการวิจัย หรือให้บริการทางวิชาการให้แก่หน่วยงานอื่น ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หากเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ การให้บริการดังกล่าวของหน่วยงาน ก. จะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร
    3. อากรแสตมป์ เนื่องจากการรับจ้างตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หน่วยงาน ก. ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสีย อากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อย่างไรก็ดี โดยที่หน่วยงาน ก. เป็นนิติบุคคลที่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ถือได้ว่าเป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งกิจการของรัฐ ตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าวจึงเข้าลักษณะฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล ดังนั้น หากหน่วยงาน ก.ไม่ได้ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ หน่วยงาน ก. ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับสัญญาจ้างทำของดังกล่าว ตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-01-2024