เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/6243
วันที่ :   10 ตุลาคม 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 77/1 (8), มาตรา 77/1 (9), และมาตรา 77/2 (1), มาตรา 91/1, มาตรา 91/2 (6), มาตรา 103, มาตรา 104 และมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร ลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) ใบรับ และลักษณะแห่งตราสาร 28. วรรคสอง แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ข้อหารือ :   1. สำนักงาน ก. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย และได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการประเภทการขายสินค้า เป็นต้น โดยมีรายได้จากการประกอบกิจการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้จากกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
    2. สำนักงาน ก. มีหน่วยงานภายใน 3 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงาน A หน่วยงาน B และหน่วยงาน C โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สำนักงาน ก. โอนบรรดาหน้าที่และอำนาจ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ งบประมาณ และเงินรายได้เฉพาะในส่วนหน่วยงาน C ให้แก่สำนักงาน ข. ตามกฎหมายจัดตั้งสำนักงาน ข. ซึ่งสำนักงาน ก. มีทรัพย์สินในส่วนของหน่วยงาน C ที่จะต้องโอนให้แก่สำนักงาน ข. ประกอบด้วย สินค้าคงเหลือ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (โปรแกรมคอมพิวเตอร์)
    สำนักงาน ก. จึงขอหารือว่า กรณีสำนักงาน ก. โอนทรัพย์สินตาม 2. เฉพาะส่วนของหน่วยงาน C ให้แก่สำนักงาน ข. ตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มีภาระภาษีหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:   กรณีสำนักงาน ก. โอนทรัพย์สินเฉพาะส่วนของหน่วยงาน C ให้แก่สำนักงาน ข. มีภาระภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
    1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
        สำนักงาน ก. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการโอนทรัพย์สินแต่อย่างใด
    2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
        2.1 กรณีโอนทรัพย์สินที่มีไว้ใช้เฉพาะในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าของผู้ประกอบการจดทะเบียนอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/1 (9) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
        2.2 กรณีโอนทรัพย์สินที่มีไว้ใช้เฉพาะในการประกอบกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
        2.3 กรณีทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ร่วมกันในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตามเข้าลักษณะเป็น การขายสินค้าของผู้ประกอบการจดทะเบียน อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/1 (9) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
    3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
        กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 และมาตรา 91/1 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
    4. อากรแสตมป์
        กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีประโยชน์ตอบแทน บันทึกหรือหนังสือใด ๆ ที่ผู้รับโอนได้ออกเป็นหลักฐาน แสดงว่าได้รับโอนอสังหาริมทรัพย์เข้าลักษณะเป็น "ใบรับ" ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ออกใบรับต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อย่างไรก็ดีอาจมีกรณีที่ยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ดังนี้
        4.1 การยกเว้นไม่ต้องเสียอากร หากฝ่ายที่ต้องเสียอากร เป็นรัฐบาล พนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และองค์การศาสนาใด ๆ ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นนิติบุคคล ยกเว้นองค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียน เพื่อประกอบการพาณิชย์หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร
        4.2 ใบรับ สำหรับจำนวนเงินที่ผู้รับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งกำหนดยกเว้นไว้ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. วรรคสอง แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-04-2024