เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/3357
วันที่ :   2 มิถุนายน 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจากการตั้งดอกเบี้ยค้างจ่าย
ข้อกฎหมาย :   มตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   1. บริษัท ไก่กา ได้รับงบลงทุนและงบดำเนินการจำนวน 1,700,000,000 บาท ให้เบิก เป็นเงินยืมโดยมีเงื่อนไขการชำระคืนรัฐบาลภายใน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกับหน่วยงานของรัฐโดยมีกำหนดชำระคืนในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 หากบริษัทฯ ไม่ชำระคืนได้ครบตามจำนวนที่กำหนด ต้องจ่ายเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้จนกว่าจะชำระหนี้ครบจำนวน
    2. ต่อมาบริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินได้และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 และวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันบริษัทฯ ยังมียอดหนี้คงค้างที่ต้องชำระคืนแก่หน่วยงานของรัฐตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และดอกเบี้ยผิดนัด
    3. มติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินยืมของบริษัทฯ ทั้งต้นเงินยืมและดอกเบี้ย รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดจากสัญญาเดิมนับแต่ปี 2563 ออกไปอีก 25 ปี (2563 ถึง 2587) และเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระคืนเงินยืม ให้มีผลนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ดังนี้
        3.1 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2569 รวมระยะเวลา 7 ปี ให้พักชำระต้นเงินและดอกเบี้ยโดยภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงพักชำระหนี้ดังกล่าว ให้บริษัทฯ เฉลี่ยทยอยชำระคืนแก่หน่วยงานของรัฐในช่วงชำระคืนต้นเงินยืม
        3.2 ตั้งแต่ปี 2570 ถึงปี 2582 รวมระยะเวลา 13 ปี ให้ชำระคืนต้นเงินยืมพร้อมดอกเบี้ยให้หน่วยงานของรัฐ
        3.3 ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในปี 2563 ใช้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมที่ร้อยละ 3.78 ต่อปี และปรับใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) อายุ 20 ปี ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นอัตราดอกเบี้ยใหม่ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
        3.4 ตั้งแต่ปี 2583 ถึงปี 2587 รวมระยะเวลาทยอยชำระคืนดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาเดิม
    บริษัทฯ ขอหารือว่าดอกเบี้ยจ่ายที่ได้รับการพักชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2569 เป็นระยะเวลา 7 ปี ในทางบัญชีทยอยรับรู้รายการดอกเบี้ยจ่ายดังกล่าวตามรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายนั้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2582 รวมระยะเวลา 20 ปี กล่าวคือ ปี 2563 ฝ่ายบัญชีได้บันทึกรายการดอกเบี้ยจ่ายเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:   กรมสรรพากรขอเรียนว่า การรับรู้รายได้หรือรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธินั้น มีหลักสำคัญ อยู่ว่า รายได้หรือรายจ่ายนั้นต้องมีความแน่นอนที่ผู้ประกอบการมีสิทธิจะได้รับชำระหรือมีหน้าที่จะต้องจ่ายอีกทั้งยังมีจำนวนที่แน่นอนที่สามารถลงบัญชีรับรู้ได้ ซึ่งถือเป็นการรับรู้รายได้รายจ่ายที่เป็นไปตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่29 ธันวาคม 2563 อนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทฯ โดยกำหนดให้ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินยืมของบริษัทฯ ทั้งต้นเงินยืมและดอกเบี้ย รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดจากสัญญาเดิมนับแต่ปี 2563 ออกไปอีก 25 ปี และเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระคืนเงินยืม ให้มีผลนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไปซึ่งมีผลให้บริษัทฯ ได้รับการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกล่าวคือ เมื่อบริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ในช่วงระยะเวลาพักชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2569 รวมระยะเวลา 7 ปีแต่เจ้าหนี้ยังคิดดอกเบี้ยต่อไปเรื่อย ๆ ในระหว่างระยะเวลาการพักชำระหนี้ แล้วมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ภายในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2570 ถึงปี 2582 รวมระยะเวลา 13 ปี ซึ่งในช่วงระยะเวลาการพักชำระหนี้บริษัทฯ ยังมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญา ดังนั้นดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาการพักชำระหนี้ จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-04-2024