เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1601
วันที่: 10 มีนาคม 2563
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับยอดขายสินค้านอกราชอาณาจักรมาใช้เป็นภาษีซื้อเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย :มาตรา 77/1 (14) 80/1 (1) 82/4 และมาตรา82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สำนักงานสรรพากรภาค หารือ กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มีข้อเท็จจริงสรุปได้ คือบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการส่งออกผ้า ได้แก่ ผ้าพิมพ์ ผ้าย้อม ไปยังต่างประเทศ โดยผ่านพิธีการศุลกากร ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งการส่งออกผ้าดังกล่าวมี 2 ลักษณะ ดังนี้
          (1) ผ้าที่ส่งออกเพื่อขายให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศโดยตรง บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ไว้เป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
          (2) ผ้าที่ส่งออกเพื่อเป็นวัตถุดิบให้บริษัทในประเทศจีนผลิตหรือตัดเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูป และเมื่อบริษัทในประเทศจีนได้ผลิตเสร็จ บริษัทฯ จะจัดส่งสินค้าดังกล่าวไปยังลูกค้าของบริษัทฯ ในอีกประเทศหนึ่ง (ปานามา) โดยระบุผู้ส่งออกในใบตราส่งสินค้า (Bill of lading) เป็นชื่อของบริษัทฯ ซึ่งการขายเสื้อสำเร็จรูปของบริษัทฯ โดยการส่งจากประเทศจีนไปยังลูกค้าของบริษัทฯ อีกประเทศหนึ่งนั้น บริษัทฯ เข้าใจว่าการขายเช่นว่านี้ เป็นการขายนอกราชอาณาจักรที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) และบริษัทฯ ไม่ได้นำยอดขายเสื้อสำเร็จรูปมาเป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ในแบบ ภ.พ.30 ทั้งนี้ กรณีที่บริษัทฯ ส่งออกผ้าเพื่อให้บริษัทในประเทศจีนผลิตหรือตัดเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูป ดังที่กล่าวข้างต้น บริษัทฯ ได้ยื่นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ในแบบ ภ.พ.30อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทฯ ส่งออกผ้าไปขายกรณีตาม (1) และการขายเสื้อสำเร็จรูปกรณีตาม (2) บริษัทฯ ได้รับรู้รายได้เป็นรายได้จากการขายสินค้าและนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามเกณฑ์สิทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วบริษัทฯ จึง หารือว่า กรณีบริษัทฯ ส่งออกวัตถุดิบ (ผ้า) ซึ่งได้ผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อให้บริษัทในประเทศจีนผลิตหรือตัดเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูป ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
          ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ และภาษีซื้อจากการซื้อวัตถุดิบ (ผ้าชนิดต่าง ๆ) รวมทั้งภาษีซื้อจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการส่งออกวัตถุดิบนั้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัทในประเทศจีนผลิตหรือตัดเย็บเสื้อสำเร็จรูป โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกผ้าให้แก่บริษัทในประเทศจีนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหรือตัดเย็บเสื้อสำเร็จรูป ซึ่งปรากฏชื่อของบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกในใบตราส่งสินค้าและใบขนสินค้าขาออก เข้าลักษณะเป็นการส่งออก ตามมาตรา 77/1 (14) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูกเรียกเก็บจากการซื้อผ้าในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตหรือตัดเย็บเป็นเสื้อสำเร็จรูปในประเทศจีน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการส่งออกวัตถุดิบนั้น เป็นภาษีซื้อเนื่องจากการประกอบกิจการส่งออกวัตถุดิบที่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ สามารถนำไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ภาษีซื้อดังกล่าวต้องไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 83/40897

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020