เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3580
วันที่: 29 พฤษภาคม 2562
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 39 76 ทวิ,อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ, มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
ข้อหารือ           หน่วยงาน ฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่หน่วยงาน ฯ ทำสัญญา กับ Consortium ABC (Consortium) เพื่อให้ก่อสร้างระบบขนส่ง โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
          1.Consortium ประกอบด้วยบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และมิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย 3 บริษัท ดังต่อไปนี้
               1.1 บริษัท A
               1.2 บริษัท B
               1.3 บริษัท C
          2.ตาม MOU ระหว่าง หน่วยงานฯ. กับ Consortium ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และตามคำชี้แจงของ หน่วยงานฯ. ในการประชุมร่วมกับกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 หน่วยงานฯ. ได้แจ้งว่า สัญญาดังกล่าวซึ่งจัดทำในประเทศไทย มีสาระสำคัญ ดังนี้
               2.1หน้าที่งานและค่าตอบแทนของแต่ละบริษัทใน Consortium มีดังนี้
                    (ก)บริษัท A มีหน้าที่จัดหาและขายตู้รถไฟ คิดราคาเป็นเงินสกุลเยน
                    (ข)บริษัท B มีหน้าที่จัดหาและขายอุปกรณ์พื้นรางวิ่ง ระบบไฟฟ้า ระบบควบคุมรถไฟและอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋วโดยสาร และเครื่องมือและวัสดุที่ใช้ในศูนย์ซ่อมบำรุง คิดราคาเป็นเงินสกุลเยน
                    (ค)บริษัท C มีหน้าที่ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบระบบทั้งหมดในประเทศไทย คิดราคาเป็นเงินสกุลบาท
               2.2 ในส่วนของบริษัท หน่วยงานฯ และบริษัท B บริษัททั้งสองตกลงจะจัดหา ส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์สินค้าตาม 2.1 (ก) และ (ข) ให้กับ ณ ท่าเรือในต่างประเทศ โดยหน่วยงานฯ จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าภายใต้ชื่อของหน่วยงานฯ และจะชำระราคาให้กับบริษัททั้งสองโดยตรง
               2.3 บริษัททั้งสามใน Consortium มิได้ร่วมกันทำงาน หรือร่วมทุน แรงงาน หรือร่วมกันในเทคโนโลยี และมิได้ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนตามสัญญาที่ทำกับ หน่วยงานฯ. แต่อย่างใด
          3.หน่วยงานฯ. ได้หารือว่า เมื่อ จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัท A และบริษัทฺ B หน่วยงานฯ. จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           1.หากในการทำสัญญากับ หน่วยงานฯ. บริษัททั้งสามมิได้ร่วมกันทำงาน หรือร่วมทุน แรงงานหรือเทคโนโลยี โดยสัญญาที่ทำกับ หน่วยงานฯ. มีการแบ่งแยกงานและค่าตอบแทนของแต่ละบริษัท และบริษัททั้งสามมิได้ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนตามสัญญาที่ทำกับ หน่วยงานฯ. แต่อย่างใด การเข้าร่วมกันทำสัญญากับ หน่วยงานฯ ไม่เข้าลักษณะเป็น “กิจการร่วมค้า” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และแต่ละบริษัทจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในนามของตนเอง
          2.ในส่วนของบริษัท A และบริษัท B นั้น หากการขายสินค้าในส่วนของแต่ละบริษัทแยกต่างหากจากกัน และแยกจากงานในส่วนของบริษัท C ได้ชัดเจน โดย หน่วยงานฯ มุ่งที่จะซื้อสินค้าจากบริษัททั้งสองให้เสร็จสิ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากเงินได้จากการขายสินค้า เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ดังนั้น แม้ว่าบริษัททั้งสองจะเข้ามาลงนามสัญญากับ หน่วยงานฯ. ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่หากการขายสินค้าดังกล่าว มิได้กระทำโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัททั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากเงินได้จากการขายสินค้าดังกล่าว และ หน่วยงานฯ. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 อนึ่ง หน่วยงานฯ. ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงตามสัญญาและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ได้มีการแยกงานและความรับผิดชอบของแต่ละบริษัทใน Consortium ถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงข้างต้น หรือไม่ เพราะภาระภาษีอาจแตกต่างได้ตามข้อเท็จจริงที่มีการเปลี่ยนแปลง
เลขตู้: 82/40862

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020