เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/935
วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบริษัทส่งพนักงานไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ ได้ส่งพนักงานของบริษัทฯ ไปทำงาน ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป. ลาว) โดยพักอาศัยใน ส.ป.ป. ลาว ในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 319 วัน ในปี พ.ศ. 2556 จำนวน 280 วัน ในปี พ.ศ. 2557 จำนวน 275 วัน และในปี พ.ศ. 2558 จำนวน 300 วัน ระหว่างที่พนักงาน ปฏิบัติงานใน ส.ป.ป. ลาว บริษัทฯ ได้จ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีเงินฝากในประเทศไทย แต่พนักงาน จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งให้กับ ส.ป.ป. ลาว โดยบริษัท ส.ป.ป.ลาว และพนักงาน ได้ยื่นแบบแสดงรายได้พร้อมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละรอบปีภาษีที่ไปปฏิบัติงานให้กับ ส.ป.ป. ลาว ตามอัตราที่กฎหมายของ ส.ป.ป. ลาว กำหนดบริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีพนักงาน มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แต่อยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 183 วัน จึงมิได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ ส.ป.ป. ลาว ตามอัตราที่กฎหมายของ ส.ป.ป. ลาว กำหนดแล้ว พนักงาน จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามข้อ 15 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (อนุสัญญาฯ ) ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ส่งพนักงาน ไปปฏิบัติงานใน ส.ป.ป. ลาว โดยบริษัทฯ จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน ผ่านบัญชีเงินฝากในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ไปปฏิบัติงาน หากการปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ เงินได้ที่พนักงาน ได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรอย่างไรก็ดี กรณีพนักงาน พักอาศัยใน ส.ป.ป. ลาว ในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 319 วัน ในปี พ.ศ. 2556 จำนวน 280 วัน ในปี พ.ศ. 2557 จำนวน 275 วัน และในปี พ.ศ. 2558 จำนวน 300 วัน หากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่าพนักงาน เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ใน ส.ป.ป. ลาว เงินเดือนค่าจ้างที่ได้รับจากบริษัทฯ ตลอดระยะเวลาที่ไปปฏิบัติงาน เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากบริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ ตามข้อ 15 ของอนุสัญญาฯ ซึ่งจะเก็บภาษีได้เฉพาะในรัฐที่พนักงาน มีถิ่นที่อยู่ได้รับเงินได้ในส่วนที่เกี่ยวกับการจ้างงาน คือ ส.ป.ป. ลาว เท่านั้น พนักงาน จึงได้รับการขจัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียซ้อนในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามข้อ 15 วรรคแรก ของอนุสัญญาฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่พนักงาน จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 80/40311

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020