เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/210
วันที่: 12 มกราคม 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากการให้ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 (1) ประกอบมาตรา 42 (28) มาตรา 48 และมาตรา 50 (1)
ข้อหารือ           ธนาคาร ได้ให้ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน (ของที่ระลึกฯ) แก่พนักงานที่อายุการทำงานครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ และก่อให้เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยมอบในพิธีคล้ายวันสถาปนา ธนาคาร. ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ เรื่อง สิทธิประโยชน์ของที่ระลึกแห่งการทำงานนาน ทั้งนี้ ของที่ระลึกฯ ที่มอบให้พนักงานดังกล่าวจัดทำด้วยทองคำหรือทองคำประดับเพชรแสดงสัญลักษณ์ของ ธนาคารฯ. มูลค่าตามสมควร ไม่เกินฐานานุรูปของพนักงาน เนื่องจาก ธนาคารฯ. มีเจตนาให้พนักงานเก็บไว้เป็นที่ระลึกไม่นำไปจำหน่ายจ่ายแจก กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ธนาคาร ฯ จึงขอหารือว่าการให้ของที่ระลึกฯ ในพิธีวันคล้ายวันสถาปนา ธนาคาร.ฯ ถือเป็นเงินได้ของพนักงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ และหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีที่ ธนาคารฯ ได้มอบของที่ระลึกฯ ให้แก่พนักงานที่อายุการทำงานครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด มูลค่าของของที่ระลึกฯ ดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกรณีดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าของของที่ระลึกฯ ที่ได้รับ มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร และ ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 80/40322

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020