เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/4626
วันที่: 18 กรกฎาคม 2560
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีการปิดและการขอคืนอากรแสตมป์สัญญาบริการ
ข้อกฎหมาย: มาตราบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ข้อหารือ           บริษัท ซ. (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับอากรแสตมป์ กรณีการปิดอากรแสตมป์และการขอคืนอากรแสตมป์สำหรับสัญญาบริการ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการให้บริการทางธุรกิจแก่บริษัทในเครือ ได้ทำสัญญาให้บริการการดำเนินงานทั่วไป บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม (สัญญาฯ) กับบริษัทในเครือเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 โดยกำหนดให้สัญญาฯ มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559
          2. บริษัทฯ ตกลงเรียกเก็บค่าบริการตามสัญญาฯ จากบริษัทในเครือเป็นรายไตรมาส คำนวณค่าบริการตามสัญญาฯ จากต้นทุนการให้บริการที่เกิดขึ้นบวกกับกำไรตามอัตราที่ตกลงไว้ในสัญญาฯ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยได้นำสัญญาฯ ซึ่งมีมูลค่า 55,946,237.66 บาท ไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ทำการสลักหลัง พร้อมทั้งยื่นแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน (แบบ อ.ส.4) และชำระอากรแสตมป์เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 จำนวน 55,947 บาท แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ อ.ส.4 เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจึงเรียกเก็บเงินเพิ่มอากร 2 เท่าของจำนวนอากรตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 111,849 บาท บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอลดเงินเพิ่มจากจำนวน 111,849 บาท คงเหลือเพียง 27,974 บาท และได้ชำระเงินเพิ่มจำนวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เรียบร้อยแล้ว
          3. ในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ อ.ส.4 ขอชำระอากรแสตมป์เพิ่มในส่วนที่บริษัทฯ ได้ประมาณการมูลค่าของสัญญาฯ ตาม 2. ขาดไป (บริษัทฯ ได้ประมาณการมูลค่าของสัญญาฯ เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 220,859,100 บาท) ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระอากรเพิ่มจำนวน 220,860 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 88,344 บาท รวมเป็นจำนวน 309,204 บาท ไว้ในวันดังกล่าว พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอลดเงินเพิ่มตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร
           4. บริษัทฯ ขอหารือดังนี้
              4.1 กรณีสัญญาฯ ไม่ได้กำหนดจำนวนค่าบริการที่แน่นอนไว้ และบริษัทฯ ได้ประมาณการมูลค่าของการให้บริการตามสัญญาฯ ไว้เป็นจำนวน 276,805,337.66 บาท โดยได้ชำระค่าอากรแสตมป์จำนวน 276,807 บาท แก่กรมสรรพากรแล้ว ต่อมา ปรากฏว่าค่าบริการที่เกิดขึ้นจริงมีจำนวนน้อยกว่าที่ได้ ประมาณการไว้ เช่นนี้ บริษัทฯ จะสามารถดำเนินการอย่างไร เพื่อขอคืนค่าอากรแสมตป์ที่ได้ชำระไว้เกิน และในกรณีที่ค่าบริการนั้นมีจำนวนสูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ บริษัทฯ จะต้องชำระค่าอากรแสตมป์เพิ่มให้แก่กรมสรรพากร และต้องเสียเงินเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
              4.2 กรณีสัญญาฯ มีข้อตกลงระบุว่า “ให้สัญญามีผลใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 และจะต่ออายุออกไปโดยอัตโนมัติ เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งขอยกเลิกสัญญา” ดังนั้น เมื่อครบกำหนด 1 ปี และคู่สัญญาไม่ได้แจ้งขอยกเลิกสัญญาฯ จะถือว่า สัญญาฯ ดังกล่าว เริ่มมีผลใช้บังคับต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี บริษัทฯ จะต้องประมาณค่าบริการที่คาดว่าจะได้รับสำหรับระยะเวลาการให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 และชำระอากรเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ พร้อมทั้งนำสัญญาฯ ไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เพื่อสลักหลังภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันที่สัญญาฯ เริ่มมีผลใช้บังคับ (วันที่ 16 สิงหาคม 2559) ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาฯ กับบริษัทในเครือ โดยสัญญาฯ ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป บริษัทฯ ในฐานะผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น ตามข้อ 2(3)(ก) และข้อ 3(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งการที่บริษัทฯ ไม่ทราบจำนวนค่าจ้างว่าเป็นราคาเท่าใด จึงประมาณจำนวนค่าจ้างตามสมควรแล้วเสียอากรตามจำนวนที่ประมาณการไว้นั้น ย่อมเป็นการปฏิบัติตามหมายเหตุ (1) แห่งลักษณะตราสารดังกล่าว ดังนั้น
              1.1 หากภายหลังปรากฏว่า ค่าจ้างที่ประมาณการและเสียอากรไว้นั้นต่ำกว่าค่าจ้างจริง บริษัทฯ ต้องไปชำระค่าอากรเพิ่มในทันทีที่มีการรับเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นนั้น กรณีที่บริษัทฯ ไม่ชำระอากรตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ย่อมมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร
              1.2 หากภายหลังปรากฏว่า ค่าจ้างที่ประมาณการและเสียอากรไว้นั้นมีจำนวนสูงกว่าค่าจ้างจริง บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิขอคืนอากรได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันเสียอากร ตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีสัญญาฯ มีข้อตกลงระบุว่าให้สัญญามีผลใช้บังคับเป็นเวลา 1 ปี และจะต่ออายุออกไปโดยอัตโนมัติ เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งขอยกเลิกสัญญานั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อสัญญาฯ ครบกำหนด 1 ปีแล้ว (วันที่ 31 กรกฎาคม 2559) คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้แจ้งเลิกสัญญา ย่อมถือได้ว่า คู่สัญญาได้ตกลงทำสัญญาฯ ขึ้นใหม่ โดยไม่มีกำหนดเวลา ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องชำระอากรตามจำนวนสินจ้าง ที่ตกลงกันตามสัญญาฯ ใหม่นั้นตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อย่างไรก็ดี หากบริษัทฯ ไม่ทราบจำนวนสินจ้างตามสัญญาฯ ในขณะที่สัญญามีผลใช้บังคับต่อไปนั้น ให้บริษัทฯ ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควรที่คาดว่าจะได้รับสำหรับการให้บริการตามสัญญาฯ และชำระอากรตามลักษณะแห่งตราสารดังกล่าว ซึ่งถ้าหากจำนวนสินจ้างที่ประมาณการไว้นั้นมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป บริษัทฯ ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยบริษัทฯ ต้องนำ สัญญาฯ ดังกล่าว ไปสลักหลังตามระเบียบกรมสรรพากร ก่อนกระทำตราสารหรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น ทั้งนี้ ตามข้อ 2(3)(ก) และข้อ 3(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557
เลขตู้: 80/40431

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020