เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/8398
วันที่: 25 ธันวาคม 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

          1. นาง ม.เป็นพนักงานขององค์การฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้ององค์การฯ เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขดำที่ 710/2558 ขอให้องค์การฯ ชดใช้ค่าเสียหายที่ได้กระทำละเมิดต่อนาง ม. เนื่องจากองค์การฯ ไม่ดำเนินการสรุปผลการทดลองงานและแต่งตั้งให้นางวี ม. ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 10 ผู้ช่วยผู้อำนวยการ
          2. ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ให้องค์การฯ ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่นาง ม. นับแต่วันที่นาง ม. สมควรได้รับการแต่งตั้งจนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้องค์การฯ จำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราเดือนละ 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแต่งตั้งนางวีระมลฯ เข้าดำรงตำแหน่งนักบริหาร 10 ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่เกิดสิทธิเรียกร้องในแต่ละเดือนหลังจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

แนววินิจฉัย           ค่าสินไหมทดแทนที่นาง ม. ได้รับจากองค์การฯ ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดง มีมูลหนี้มาจากการกระทำละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร และองค์การฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทน เข้าลักษณะเป็นเงินได้ชนิดเดียวกับค่าสินไหมทดแทน ฉะนั้น ดอกเบี้ยของเงินต้นค่าสินไหมทดแทนก็ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นกัน
เลขตู้: 80/40523

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020