เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2566
วันที่: 8 เมษายน 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 60 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          กรณีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ (สำนักงานฯ) ซึ่งได้เบิกจ่ายให้แก่เทศบาลฯ เพื่อจ่ายให้ผู้รับจ้างเป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน โดยสำนักงานฯ ได้วางฎีกาเบิกจ่ายจากคลังจังหวัดและหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายบันทึกภาษีเป็นเงินรายได้แผ่นดินไว้ในคำขอเบิกเงินตามหน้าฎีกาไว้แล้วก่อนจ่ายเงินให้แก่เทศบาลฯ และสำนักงานฯ ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับจ้างแล้ว แต่เทศบาลฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด. 53 ให้กับสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาซ้ำอีก เทศบาลฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรที่ได้หักและนำส่งซ้ำดังกล่าว แต่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษี เนื่องจากเทศบาลฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และได้นำส่งภาษีไว้ถูกต้องแล้ว จึงขอหารือว่า
          1. กรณีดังกล่าวหน่วยงานใดเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และ
          2. กรณีได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งซ้ำ หน่วยงานใดจะเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษี
แนววินิจฉัย          1. กรณีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น กรมบัญชีกลางได้วางแนวทางปฏิบัติไว้แล้วตามหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0409.6/ว.113 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ซึ่งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้เบิกวางฎีกาเบิกเงินจากสำนักงานคลังจังหวัดได้ทั้งจำนวน โดยไม่ต้องแนบเอกสารประกอบฎีกา แต่ให้หมายเหตุหลังฎีกาว่าเบิกจ่ายเป็นค่าอะไร จำนวนเงินเท่าไร ดังนั้น หากสำนักงานฯ ได้วางฎีกาเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้แก่เทศบาลฯ เพื่อเป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียนจากสำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานฯ จึงเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่เทศบาลฯ ได้ทั้งจำนวนโดยไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย บันทึกภาษีเป็นเงินรายได้แผ่นดินไว้ในคำขอเบิกเงินตามหน้าฎีกา
          ส่วนเทศบาลฯ มีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจากเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยเทศบาลฯ เป็นคู่สัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง จึงเข้าลักษณะเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีการขอคืนเงินภาษีอากรในกรณีที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินหรือผิดหรือซ้ำนั้น เงินภาษีที่ได้หักและนำส่งแล้วเป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้รับจ้างได้รับ และให้ถือเป็นเครดิตของผู้รับจ้างในการคำนวณภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากผู้รับจ้างถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าภาษีที่ควรต้องเสีย ผู้รับจ้างมีสิทธิขอคืนเงินภาษี ตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ส่วนสำนักงานฯ หรือเทศบาลฯ ไม่มีหน้าที่ขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการคืนเงินภาษีซ้ำและคืนเงินภาษีผิดพลาด ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษี
เลขตู้: 73/37698

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020