เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7018
วันที่: 31 สิงหาคม 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารของส่วนราชการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 37 ตรี และมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          มหาวิทยาลัยฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฯ พ.ศ. 2537 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น สำนักงานอธิการบดี คณะ สำนัก สถาบัน และกองต่าง ๆ ซึ่งในการบริหารทางการเงินได้กำหนดนโยบายให้ส่วนราชการขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์/เผื่อเรียก และกระแสรายวันกับธนาคารพาณิชย์ สำหรับใช้ในการบริหารเงินทดรองราชการให้บังเกิดประสิทธิภาพและการบริหารจัดการที่ดี โดยธนาคารได้จ่ายดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวให้แก่มหาวิทยาลัยฯ และธนาคารได้หักภาษีเงินได้ของมหาวิทยาลัยฯ ไว้ จึงขอทราบว่า
          1. มหาวิทยาลัยฯ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
          2. หากมหาวิทยาลัยฯ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะขอคืนภาษีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. มหาวิทยาลัยฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น เมื่อธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่มหาวิทยาลัยฯ ธนาคารจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
          2. หากมหาวิทยาลัยฯ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ มหาวิทยาลัยฯ มีสิทธิขอคืนภาษีที่ถูกหักและนำส่งแล้ว ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยการยื่นคำร้อง ขอคืนภาษีตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยฯ มีภูมิลำเนา ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 74/37854

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020