เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7906
วันที่: 28 กันยายน 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งเงินภาษีแทนผู้ขายสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) มาตรา 52 มาตรา 59 มาตรา 3 เตรส และคำสั่งกรมสรรพากร ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ          บริษัท ขออนุมัติเป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้ขายสินค้า เนื่องจากในการประกอบกิจการบริษัทฯ ต้องสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้าหลายราย ในปริมาณมากและได้ตกลงกับผู้ขายสินค้าเพื่อขอรับส่วนลดจากยอดขายในแต่ละเดือนตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน โดยในทางปฏิบัติ บริษัทฯ จะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับส่วนลดจากการส่งเสริมการขายดังกล่าว แต่เนื่องจากผู้ขายสินค้ามีจำนวนมากทำให้บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ครบถ้วนและต้องใช้เวลาในการติดตามรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นระยะเวลานาน
          บริษัทฯ จึงมีความประสงค์ขออนุมัติเป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ผู้ขายสินค้าโดยปฏิบัติดังต่อนี้
          (1) ขอยกเว้นไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับ ทุกครั้งที่มีการให้ส่วนลด แต่ขอระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยมีสาระสำคัญว่า "บริษัทฯ ได้ดำเนินการ หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เป็นจำนวน...บาท แทนร้านค้าแล้วและจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายใน วันที่ 7 ของเดือนถัดไป" โดยบริษัทฯ จะจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี
          (2) ขอยกเว้นไม่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด. 53 ในนามผู้ขายสินค้า แต่ขอยื่นรายการโดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า "บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้ขายสินค้า" พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งระบุชื่อผู้ขายสินค้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายสินค้า จำนวนเงินส่วนลด จำนวนเงินภาษีที่หักนำส่ง และขอให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด. 53 ซึ่งอาจจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่ารายละเอียดดังกล่าวเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีของผู้ขายสินค้าด้วย
          (3) ขอใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 ตาม (ข) และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ได้รับส่วนลดจากผู้ขายสินค้าดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ดังนั้น ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับบริษัทฯ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
          2. การที่บริษัทฯ มีความประสงค์ขอเป็นตัวแทนในการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษี หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้ขายสินค้าตามที่กล่าวข้างต้น เนื่องจากลักษณะกิจการของบริษัทฯ จะต้องมีการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้าหลายรายในปริมาณมากทำให้มีภาระในการติดตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับส่วนลดจากการส่งเสริมการขายเพื่อเป็นหลักฐาน ในการเครดิตภาษี ดังนั้น จึงผ่อนผันให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนในการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้ขายสินค้า โดยมีเงื่อนไขที่บริษัทฯ และผู้ขายสินค้าจะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
               (1) ผู้ขายสินค้าจะต้องทำสัญญาแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร
               (2) บริษัทฯ ในฐานะตัวแทนจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินค่าส่วนลดหรือค่าส่งเสริมการขายให้กับผู้ขายในฐานะตัวการและไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่บริษัทฯ จะต้องจัดทำเอกสารแสดงรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
                    ก) คำว่า "รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน... พ.ศ..." ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
                    (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า "ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้"
                    (ค) ประเภทเงินได้
                    (ง) ชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่ายและจำนวนเงินภาษีที่หักไว้
                    (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
               (3) บริษัทฯ จะต้องระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของเงินค่าส่วนลดหรือค่าส่งเสริมการขายโดยมีข้อความว่า บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 เป็นจำนวน ... บาท แทนผู้ขายสินค้าแล้วและจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้ขายสินค้าแล้ว
               (4) บริษัทฯ จะต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด. 53 โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด. 53 พร้อมทั้งแนบเอกสารแสดงรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่ายและจำนวนภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็น ใบต่อแบบ ภ.ง.ด. 53 ด้วย ทั้งนี้ จะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้และให้ถือว่า เป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่ายมีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
               (5) บริษัทฯ สามารถใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้
          3. กรณีเงินได้อื่นๆ ที่บริษัท ได้รับจากผู้จ่ายเงินนอกเหนือจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์อื่นใด เนื่องจากการส่งเสริมการขาย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 74/37878

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020