เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8991
วันที่: 10 พฤศจิกายน 2554
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 91/2(6) และมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้า โดยได้ดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ คอนโดมิเนียม ในการพัฒนาโครงการดังกล่าว บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินได้กำหนดให้มีการบำรุงรักษา สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ พร้อมกำหนดให้มีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเพื่อการบริหารและจัดการการอยู่ร่วมกันของสมาชิกใน โครงการให้เกิดความผาสุกและปลอดภัย เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริหารงานของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคโดยเรียกเก็บจากผู้ซื้อ นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรอาจขอการสนับสนุนความช่วยเหลือจากเจ้าของโครงการ สำหรับรายการที่จำเป็นเพื่อการอยู่อาศัยของลูกบ้าน
          2. บริษัทฯ ได้รับการร้องขอจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ที่ทางบริษัทฯ เป็นเจ้าของโครงการ ให้บริษัทฯ มอบที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ข้างบริเวณโครงการฯ ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ เพื่อให้สภาพแวดล้อมและให้การอยู่อาศัยของลูกบ้านในโครงการดังกล่าวสะดวกสบาย
          3. บริษัทฯ เห็นว่า เพื่อประโยชน์ของความเป็นอยู่ของลูก บ้านของโครงการฯ ซึ่งบริษัทฯ เป็นเจ้าของโครงการ บริษัทฯ จึงมอบที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ และบริษัทฯ ได้นำมูลค่าที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ที่ได้มอบให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ความเห็นของบริษัทฯ ถูก ต้องหรือไม่
          4. จากการไต่สวนเพิ่มเติม ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
               4.1 คลับเฮ้าส์ที่ได้ โอนให้กับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ตั้งอยู่บนที่ดินนอกผังของโครงการฯ แต่ติดอยู่กับที่ดินของโครงการฯ คลับเฮ้าส์มีเนื้อที่ 3 ไร่ 48.1 ตารางวา ราคาทุนที่ดินที่ซื้อมาราคาตารางวาละ 8,267.43 (ราคาประเมินตารางวาละ 6,300 บาท) รวมเป็นราคาต้นทุนที่ดิน จำนวน 2,877,893.66 บาท ซื้อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 และได้มีการก่อสร้างคลับเฮ้าส์ มูลค่ารวมจำนวน 16,625,595.17 บาท สร้างเสร็จเมื่อ เดือนมกราคม 2548 บริษัทฯ คิดค่าเสื่อมราคาไปแล้วจำนวน 3,511,872.30 บาท คงเหลือมูลค่า ณ วันโอน (27 มีนาคม 2552) จำนวน 13,113,722.87 บาท
               4.2 สำหรับ ทรัพย์สินในคลับเฮ้าส์ ที่บริษัทฯ ต้องโอนให้กับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ได้แก่ อุปกรณ์ฟิตเนส โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ มูลค่ารวมจำนวน 365,688.97 บาท ค่าเสื่อมราคาสะสม จำนวน 310,078.86 บาท คงเหลือมูลค่า ณ วันโอน จำนวน 55,610.11 บาท
               4.3 ในผัง โครงการฯ ที่ขาย ไม่มีคลับเฮ้าส์ เมื่อขายบ้านในโครงการฯ เสร็จสิ้นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ จึงได้ร้องขอให้บริษัทฯ มอบที่ดินและ อาคารคลับเฮ้าส์ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ บริษัทฯ จึงทำสัญญาให้ที่ดิน พร้อมอาคารเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 โดยตีราคาเพื่อเป็นทุน ทรัพย์ในการเสียค่าธรรมเนียมไว้เป็นจำนวน 16,604,500 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในการโอนให้ดังกล่าว นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ เป็นผู้ออกให้ แทนบริษัทฯ
               4.4 การ โอนอสังหาริมทรัพย์ที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ โดยไม่มีค่าตอบแทน บริษัทฯ มิได้บันทึกเป็นรายได้ทางบัญชี โดยเห็นว่ามีเหตุอันควรที่จะไม่ถือเป็นรายได้ตามประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย          เนื่องจากกรณีที่บริษัทฯ โอนที่ดินพร้อมอาคารคลับเฮ้าส์ ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่ใช่เป็นการโอนทรัพย์สินที่เป็น สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 การโอนทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 378) พ.ศ. 2544 ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ โอนที่ดินพร้อมอาคารคลับเฮ้าส์ จึงถือเป็น การโอนทรัพย์สิน โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และพิจารณาภาระภาษีได้ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
               1.1 บริษัทฯ ต้อง นำราคาตลาดของที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ รวมทั้งค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ออกให้ มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
               1.2 บริษัทฯ มี สิทธินำมูลค่าที่ดินของอาคารคลับเฮ้าส์ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และกรณีที่บริษัทฯ บันทึกอาคารคลับเฮ้าส์ซึ่งปลูกสร้าง บนที่ดินดังกล่าว เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ และได้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 เมื่อบริษัทฯ โอนอาคารคลับเฮ้าส์ดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าอาคารคลับเฮ้าส์ ที่เหลืออยู่มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
          กรณีที่บริษัทฯ โอนที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ให้แก่ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ ต้องนำราคาตลาดของที่ดินและอาคารคลับเฮ้าส์ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ ใช้อยู่ในวันที่มีการโอน รวมทั้งเงินค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ออกแทน มารวม คำนวณเป็นรายรับของบริษัทฯ ในการคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 74/37909

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020