เมนูปิด

 

          บริษัท ซ. จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าสิทธิไปต่างประเทศ มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้


          1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ที่ทำจากพลาสติก เช่น ขวดนม


          2. บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลงการใช้สิทธิ (License Agreement) กับบริษัทต่างประเทศ เพื่อใช้รูปภาพการ์ตูน แบบดีไซน์กราฟฟิกของบริษัทต่างประเทศ โดยการดาวน์โหลดทางสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อนำไปเป็นแบบพิมพ์และนำไปพิมพ์ลงบนผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และบริษัทฯ ต้องจ่ายเงินค่าสิทธิขั้นต่ำล่วงหน้า(Minimum Guarantee) ให้กับบริษัทในต่างประเทศ ดังต่อไปนี้


               2.1 บริษัท ว. ประเทศอังกฤษ


               2.2 บริษัท ว. อินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย


               2.3 บริษัท ว. มาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย


          3. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าสิทธิโดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.54 ในอัตราร้อยละ 15 และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งบริษัทเดอะวอลท์ดีสนีย์ ประเทศอังกฤษแจ้งว่า ค่าลิขสิทธิ์การใช้รูปภาพการ์ตูน แบบดีไซน์กราฟฟิก จะต้องหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 5 เท่านั้นตามอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า


               1.รูปภาพการ์ตูนดังกล่าวที่บริษัทฯ ได้สิทธินำมาพิมพ์ลงบนผลิตภัณฑ์ของบริษัท ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ทางด้านงานวรรณกรรม ศิลปกรรม และถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3)แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่


               2.การจ่ายค่าสิทธิรูปภาพการ์ตูนดังกล่าวตามข้อ 1. ไปยัง 3 ประเทศข้างต้น บริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 เหมือนกันทุกประเทศ ใช่หรือไม่


               3.ในกรณีที่บริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ร้อยละ 15 ของค่าสิทธิ ส่วนที่นำส่งเกินไปร้อยละ 10 บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนได้หรือไม่และขอคืนได้ในระยะเวลาเท่าใด


               4.บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงไว้ในแบบ ภ.พ.36 แทนบริษัทในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้วหรือไม่

          1. กรณีที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินเพื่อใช้รูปภาพการ์ตูนดังกล่าว ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ จึงเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร


          2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิตามข้อ 1. ให้แก่คู่สัญญาซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ หากบริษัทต่างประเทศนั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราดังต่อไปนี้


               2.1 ประเทศอังกฤษ บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 13 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505


               2.2 ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย


               2.3 ประเทศมาเลเซีย บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


          3. กรณีบริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งภาษีกรมสรรพากร แต่บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ถือได้ว่า บริษัทต่างประเทศเป็นผู้ถูกหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย และนำส่งไว้เกิน บริษัทต่างประเทศมีสิทธิขอคืนจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้เกินได้โดยยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร แบบ ค.10 ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร


          4. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายค่าสิทธิเป็นการตอบแทนให้แก่บริษัทต่างประเทศในการได้ใช้รูปการ์ตูนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็น "บริการ" ซึ่งการให้บริการดังกล่าว เป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการดังกล่าวให้กับบริษัทต่างประเทศ จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7 ของค่าบริการทั้งหมด ตามมาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ.36 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้บริษัทต่างประเทศ ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544

เลขที่หนังสือ: กค 0702/8336 วันที่: 6 ตุลาคม 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าสิทธิไปต่างประเทศ ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40212

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020