เมนูปิด

          บริษัท ศ. (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีได้รับดอกเบี้ยจากสัญญาให้กู้เงิน มีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้


          1.บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน โดยการให้กู้เงิน


          2.เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 บริษัทฯ ทำสัญญากู้เงินกับนายธนภัทร์ โพล้งอยู่ (นาย ธ. ) จำนวนเงินกู้ 100,000 บาท ระยะเวลา 18 งวด โดยมีดอกเบี้ยเงินกู้ 18,008 บาท และเงินผ่อนชำระ 6,556 บาท ต่องวด โดยมีหลักประกันเป็นรถยนต์


          3.ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 นาย ธ. มาชำระค่างวดเป็นจำนวนเงิน 6,556 บาท และดอกเบี้ยเป็นจำนวน 1,804.32 บาท บริษัทฯ จึงนำดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว ยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนกันยายน 2559 เป็นจำนวนเงิน 59.54 บาทบริษัทฯ จึงขอหารือว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

          กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาให้กู้ยืมเงินดังกล่าวกับนาย ธ. ดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายรับจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ บริษัทฯ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(5) และมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.3 ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่ได้รับรายรับดอกเบี้ยดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/6(3) และมาตรา 91/10 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: กค 0702/8567 วันที่: 18 ตุลาคม 2559 เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีได้รับดอกเบี้ยจากสัญญาให้กู้เงิน ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(5) มาตรา 91/5(5) มาตรา 91/6(3) และมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40220

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020