เมนูปิด

          กรณีการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า หน่วยงานโดยฝ่ายสวัสดิการและกิจการสัมพันธ์ ได้ปรับปรุงการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยพนักงานสามารถ Download หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่า หน่วยงานจะดำเนินการ ได้หรือไม่

          1.กรณีที่ หน่วยงานประสงค์จะจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อความอย่างน้อย ตามแบบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 หน่วยงาน ย่อมสามารถกระทำได้ แต่จะต้องมีความถูกต้องและต้องกระทำตามวิธีการแบบปลอดภัยที่เชื่อถือได้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 4ถึงข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 เรื่อง การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545 โดยต้องแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบแจ้งการจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (แบบ ภ.อ.11) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร


          2.กรณีที่ หน่วยงาน ประสงค์จะส่งมอบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่พนักงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้าลักษณะเป็นการส่งมอบเอกสารที่อยู่ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการส่งและรับข้อความด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง หน่วยงาน อาจกระทำได้โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

เลขที่หนังสือ: กค 0702/1057 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ข้อกฎหมาย: ข้อ 4 ถึงข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.121/2545ฯ ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/39994

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020