เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/3931
วันที่: 19 พฤษภาคม 2559
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขอคืนเงินภาษีจากการเบิกจ่ายในระบบการบริหารการเงินการคลั'ภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           กรณีการขอคืนเงินภาษีจากการเบิกจ่ายในระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS)
          1. มหาวิทยาลัยฯ เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548
          2.มหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ในนามของมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้าง และทำสัญญาจ้างทั่วไป ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 (สัญญาฯ) กับบริษัท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนรวมและปฏิบัติการทางช่างอุตสาหกรรมพร้อมครุภัณฑ์ 1 หลัง ค่าจ้างก่อสร้าง เป็นเงินจำนวน 94,800,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 12 งวด และเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 บริษัทฯ ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาฯ ให้แก่ธนาคาร และมหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ได้จัดทำฎีกาเพื่อขออนุมัติมหาวิทยาลัยฯ เบิกจ่ายเงินจากงบประมาณสำหรับเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 7 และงวดที่ 8 รวมเป็นเงินจำนวน 14,175,700.93 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงินจำนวน 992,299.07 บาท โดยมหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ผู้เบิกจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1 ของเงินค่าก่อสร้างที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 141,757.01 บาทซึ่งมหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ได้มีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แสดงเงินได้จำนวน 14,175,700.94 บาท ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจำนวน 141,757.01 บาท ให้กับบริษัทฯ
          3.เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 มหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณและบันทึกข้อมูลในระบบ GFMIS ผ่านกรมบัญชีกลาง โดยใช้รหัสหน่วยงานของมหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขตเป็นผู้เบิกเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 7 และงวดที่ 8 เป็นเงินจำนวน 14,175,700.93 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินจำนวน 992,299.07 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 15,168,000 บาท หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 1,417,507.01 บาท นำส่งให้กรมสรรพากร และโอนเงินส่วนที่เหลือให้แก่ธนาคารฯ ภายหลังมหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขต ได้ตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัยฯ บันทึกภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากร เป็นเงินจำนวน 1,417,507.01 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าที่มหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขตมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นเงินจำนวน 1,275,750 บาท (1,417,507.01 - 141.757.01)ดังนั้น มหาวิทยาลัยฯ วิทยาเขต จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) ที่หักและนำส่งไว้เกินเพื่อคืนให้กับบริษัทฯ ต่อไป
แนววินิจฉัย           กรณีการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักและนำส่งไว้แล้ว ถือได้ว่า บริษัทฯ ผู้รับเงินถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสีย จึงเป็นผู้มีสิทธิขอคืนเงินภาษีสำหรับส่วนที่ถูกหักเกินไป โดยบริษัทฯ ต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10) ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯตามที่จดทะเบียนไว้ตั้งอยู่ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ข้อ 7.2 (2) และข้อ 8.1 (2)ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
เลขตู้: 79/40105

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020