เมนูปิด

          นาย ว.ทำงานอยู่บริษัท ธนาคาร น. เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 18 ปี ต่อมาธนาคาร น. ได้โอนกิจการทั้งหมดให้บริษัท ธนาคาร ธ. มีผลให้พนักงาน ทรัพย์สิน และสิทธิต่างๆ เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของธนาคาร น. เป็นต้น ได้ถูกโอนไปยังธนาคาร ธ. นาย ว. ได้ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของธนาคารธนชาตฯ (กองทุน ธ.) และถอนเงินออกจากกองทุน ธ. โดยมิได้ลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร ธ.เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 นาย ว.มีเงินได้ 2 ประเภท คือ เงินเดือนประจำและเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นาย ว.หารือว่า เงินที่ได้รับจากกองทุน ธ. สามารถใช้สิทธิเลือกนำมาคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้หรือไม่

          กรณีที่ธนาคาร น. ได้โอนกิจการทั้งหมดให้ธนาคาร ธ. มีผลให้นาย ว.ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคาร น. ทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ เช่น เงินกองทุน น. เป็นต้น ถูกโอนไปยังธนาคาร ธ. ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 นาย ว.ได้ลาออกจากกองทุน ธ. และถอนเงินออกจากกองทุน ธ. โดยมิได้ลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร ธ. เงินสมทบและผลประโยชน์อื่นใดที่นาย ว.ได้รับจากการถอนเงินออกจากกองทุน ธ. เป็นเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างแรงงานและไม่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน นาย ว.ไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุน ธ. มาเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ฉะนั้น นาย ว.ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุน ธ. ไปรวมกับเงินเดือนตามปกติแล้วนำไปคำนวณภาษีและยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป

เลขที่หนังสือ: 0702/3467 วันที่: 28 เมษายน 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยื่นแบบแสดงรายการของเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40095

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020