เมนูปิด

 

          1.บริษัท ผู้เช่า ต้องการซื้อรถหัวลาก จำนวน 12 คัน ราคาคันละ 3,000,000 บาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากบริษัท ผู้ขาย โดยผู้ขายได้แนะนำให้ผู้เช่าทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัทฯ(ผู้ให้เช่า) และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ผู้ให้เช่าได้ซื้อรถหัวลาก จำนวน 12 คัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 36,000,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากผู้ขาย และผู้ขายได้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีสำหรับค่ารถหัวลากดังกล่าวให้กับผู้ให้เช่าแล้ว


          2.เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 ผู้เช่าได้ชำระเงินล่วงหน้า (หรือเงินดาวน์ตามหลักฐานใบรับเงินชั่วคราว) จำนวนร้อยละ 10 ของราคาขาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,600,000 บาท ให้กับผู้ขาย และในวันเดียวกันนั้น ผู้เช่าได้ทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง (สัญญาเช่า) กับผู้ให้เช่า จำนวน 12 ฉบับ โดยสัญญาเช่าดังกล่าวกำหนดให้ผู้เช่าชำระเงินประกันจำนวนร้อยละ 10 ของราคาขาย ซึ่งผู้เช่าตกลงให้ผู้ขายโอนเงินล่วงหน้า (หรือเงินดาวน์) ที่ผู้เช่าได้ชำระไว้แล้วนั้นมาให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรงเพื่อเป็นเงินประกันตามสัญญาเช่าดังกล่าว


          3.ต่อมา ผู้ขายและผู้เช่าไม่สามารถตกลงกันเรื่องการให้บริการหลังการขายได้ ผู้เช่าจึงยกเลิกสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่า และผู้ขายได้ออกใบลดหนี้สำหรับค่ารถหัวลากให้กับผู้ให้เช่า จำนวน 12 ฉบับ ฉบับละ 300,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า ผู้ขายมิได้รับชำระเงินประกันจำนวนดังกล่าวจากผู้เช่าจริง ผู้ขายจึงออกใบลดหนี้ค่ารถหัวลากดังกล่าวให้กับผู้ให้เช่า และระบุเหตุผลในการออกใบลดหนี้ว่า "ลดหนี้เนื่องจากออกราคาขายผิด"


          4.บริษัทฯ จึงขอหารือว่า ผู้ขายสามารถออกใบลดหนี้ตาม 3. ได้ หรือไม่ และหากผู้ขายไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าต้องดำเนินการอย่างไรเมื่อได้รับใบลดหนี้ดังกล่าว

          กรณี ผู้เช่าตกลงชำระเงินประกันให้แก่ผู้ให้เช่า โดยให้ผู้ขายโอนเงินล่วงหน้า (หรือเงินดาวน์) ที่ผู้เช่าได้ชำระไว้แล้วนั้นมาให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรง ต่อมา ผู้ขายและผู้เช่าไม่สามารถตกลงกันเรื่องการให้บริการหลังการขายได้ ทำให้ผู้เช่ายกเลิกสัญญาเช่าและผู้ขายได้ออกใบลดหนี้ให้กับผู้ให้เช่า โดยให้เหตุผลว่า ผู้ขายมิได้รับชำระเงินประกันจากผู้เช่า ทั้งนี้ ผู้ขายได้ระบุในใบลดหนี้ว่า "ลดหนี้เนื่องจากออกราคาขายผิด" กรณีดังกล่าวมิใช่การลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย ขาดจำนวน หรือคำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง และไม่เข้าลักษณะเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10 (1) (2) (3) และ(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542 ผู้ขายจึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ดังกล่าวไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

เลขที่หนังสือ: กค 0702/4334 วันที่: 27 พฤษภาคม 2559 เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบลดหนี้ ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/10 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40116

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020