เมนูปิด

          มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้


          1.เพื่อการสังคมสงเคราะห์กลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา


          2.ส่งเสริมด้านการศึกษา การกีฬา และศาสนา


          3.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางสาธารณภัย และศึกษาค้นคว้าวิธีบำบัดรักษาผู้ป่วยจากยาเสพติดและเอดส์


          4.เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลเพื่อการกุศล และองค์การสาธารณประโยชน์เพื่อสาธารณประโยชน์


          5.เพื่อดำเนินการให้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และกิจกรรมภาคประชาชน เพื่อมุ่งเน้น การอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในวงกว้าง


          6.ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีนโยบายมุ่งเน้นประกอบกิจกรรมและดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในข้อ 5 เป็นหลัก โดยงบประมาณที่นำมาใช้จะนำมาจากการขอรับบริจาคจากหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริม สร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานอันเป็นสาธารณประโยชน์ในหลากหลายมิติ มูลนิธิฯ ได้เสนอตัวเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนฯ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และอยู่ในความดูแลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ซึ่งกองทุนฯ ได้มีประกาศให้หน่วยงานประเภทไม่แสวงหากำไรทั่วไป ที่ต้องการรับอุดหนุนทุนวิจัยเสนอโครงการเพื่อให้ สนพ. พิจารณาทุกๆ ปี และ สนพ. เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนดังกล่าวให้มูลนิธิฯ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโคมไฟถนนแอลอีดีที่มีความทนทานต่อกระแสไฟกระชากสูง โดยมูลนิธิฯ ลงนามยืนยันการขอรับทุน ทั้งนี้ กองทุนฯ กำหนดให้มูลนิธิฯ จัดทำแผนค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาโครงการ รายงานความคืบหน้าการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่มูลนิธิฯ เสนอไป โดยทรัพย์สินที่ได้จัดซื้อเพื่อพัฒนาโครงการให้ขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของทางมูลนิธิฯ และหากมีทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นให้ถือว่ามูลนิธิฯ และกองทุนฯ เป็นเจ้าของร่วมกันกองทุนฯ ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 มิได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมูลนิธิฯ ขอหารือดังนี้


          1.เงินสนับสนุนดังกล่าวถือเป็นเงินบริจาคที่มูลนิธิฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ และกรณีหากไม่ถือเป็นเงินบริจาค เงินสนับสนุนจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดตามประมวลรัษฎากร


          2.งานวิจัยตามข้อเท็จจริงเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

          1. กรณีมูลนิธิฯ ทำสัญญาการรับทุนสนับสนุน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กลุ่มงานโครงการสาธิตหรือริเริ่ม ปีงบประมาณ 2558 ที่ สนอ. 08-03-58-002 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 (สัญญาฯ) กับกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโคมไฟถนนแอลอีดีที่มีความทนทานต่อกระแสไฟกระชากสูง ในวงเงิน 13,900,000 บาท ทั้งนี้ ในสัญญากำหนดให้มูลนิธิฯ จัดทำแผนค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาโครงการ รายงานความคืบหน้าการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่มูลนิธิฯ เสนอไป โดยทรัพย์สินที่ได้จัดซื้อเพื่อพัฒนาโครงการให้ขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของทางมูลนิธิฯ และหากมีทรัพย์สิน ทางปัญญาเกิดขึ้นให้ถือว่ามูลนิธิฯ และกองทุนฯ เป็นเจ้าของร่วมกัน รวมถึงการระงับการให้การสนับสนุน ดังนั้น เงินหรือทรัพย์สินที่มูลนิธิฯ ได้รับดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เงินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร มูลนิธิฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535


          2.กรณีมูลนิธิฯ รับจ้างทำวิจัยดังกล่าวให้กับกองทุนฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากกองทุนฯ มีลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลและกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) เรื่อง กำหนดสาขาและลักษณะการประกอบกิจการ การให้บริการวิจัยหรือการให้บริการทางวิชาการ ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 การให้บริการวิจัยหรือให้บริการทางวิชาการของมูลนิธิฯ ให้แก่กองทุนฯ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: 0702/2305 วันที่: 18 มีนาคม 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการได้รับเงินอุดหนุนเพื่อดำเนินการด้านงานวิจัย ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(8) มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 77/2 และมาตรา 81(1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40059

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020