เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10848
วันที่: 10 พฤศจิกายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจัดสรรสิทธิในการซื้อหุ้นให้พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41
ข้อหารือ: บริษัทที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากรได้หารือปัญหาภาษีโดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัท น. เป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศได้จัดให้มีโครงการจัดสรรสิทธิซื้อหุ้นของ
บริษัท น. ให้พนักงาน (โครงการฯ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรบุคคลที่มีค่าให้
ปฏิบัติงานกับบริษัท น. พนักงานสามารถใช้สิทธิได้เมื่อพ้นสามปีนับจากวันแรกที่ได้มีการจัดสรรสิทธิ หรือ
พนักงานสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นได้หลังวันที่ 22 เมษายน 2543 หากพนักงานลาออกจากบริษัท น. หรือ
บริษัทในเครือก่อน พนักงานจะหมดสิทธิซื้อหุ้นทันที สิทธิที่พนักงานได้รับจัดสรรจำนวนหนึ่งหน่วย พนักงาน
นำไปซื้อหุ้นได้จำนวน 16 หุ้นหรือเท่ากับหน่วยละ 51.60 ยูโร (3.23 ยูโรต่อหนึ่งหุ้น) ไม่ว่ามูลค่าหุ้น
ของบริษัท น. ในตลาดหลักทรัพย์ Helsinki ณ วันที่พนักงานใช้สิทธิจะสูงขึ้นหรือต่ำลง ราคาใช้สิทธิที่
บริษัท น. กำหนดจะคำนวณจากราคาเฉลี่ยของหุ้นบริษัท น. ในตลาดหลักทรัพย์ห้าวันก่อนการประชุม
ผู้ถือหุ้นวันที่ 25 มีนาคม 2540 บริษัท น. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดและไม่มีการเรียกเก็บมา
ยังบริษัท น. ในประเทศไทย
2. พนักงานคนหนึ่งได้ปฏิบัติงานในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยและได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2545 และได้ขายหุ้นที่ได้รับในวันเดียวกัน
บริษัทฯ มีความเห็นว่า
1. วันที่มีการจัดสรรสิทธิ พนักงานยังไม่ได้รับเงินได้พึงประเมิน จึงไม่ต้องนำสิทธิดังกล่าวมา
คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วันที่พนักงานได้ซื้อหุ้นพนักงานมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตาม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ฯ ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
2. ภายหลังที่พนักงานได้รับการจัดสรรสิทธิและได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ
ต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ผลประโยชน์ที่ได้รับ (ในระหว่างที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย)จึงไม่ควรถือ
เป็นเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในประเทศไทยทั้งหมด หากแต่ผลประโยชน์ที่ต้องนำมาเสียภาษีใน
ประเทศไทยจะต้องเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉลี่ยผลประโยชน์ตาม
ระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรสิทธิจนถึงวันที่มีการใช้สิทธิ
3. ผลประโยชน์เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานในประเทศไทย ถือว่าเป็นเงินได้
จากหน้าที่การงานหรือทรัพย์สินในต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร แม้
พนักงานอยู่ในประเทศไทยในปี 2545 เกิน 180 วัน แต่ไม่ได้นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี
เดียวกัน จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรค 2 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: กรณีพนักงานได้รับการจัดสรรสิทธิในการซื้อหุ้น โดยพนักงานสามารถใช้สิทธิได้เมื่อพ้นสามปีนับ
จากวันแรกที่ได้รับการจัดสรรสิทธิ ซึ่งเป็นกรณีพนักงานมีสิทธิซื้อหุ้นดังกล่าวในอนาคต จึงยังมิได้รับ
เงินได้พึงประเมินในวันที่ได้รับการจัดสรรสิทธิในการซื้อหุ้น สำหรับภาระภาษีในกรณีที่พนักงานได้ซื้อหุ้น
ตามสิทธิในการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ฯ
ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 และในกรณีที่พนักงานได้รับผลประโยชน์จากหุ้นดังกล่าวถือเป็นเงินได้
ซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32708


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020