เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ./7446
วันที่: 1 สิงหาคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำสินค้าออกไปแสดงและขายที่งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8)(ค)(14), มาตรา 80/1(1), มาตรา 82/3
ข้อหารือ: กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและส่งออกอัญมณี ในปี พ.ศ. 2542 บริษัทฯได้ส่งอัญมณีและ
เครื่องประดับออกไปแสดงและขายในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยในการส่งออกสินค้า บริษัทฯ
ได้จัดทำใบกำกับสินค้า (Invoice) ซึ่งระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้ส่งออก และใบขนสินค้าขาออก ซึ่งระบุชื่อ
บริษัทฯ เป็นผู้รับสินค้า โดยไม่มีการเปิด L/C (Letter of Credit) ซึ่งเมื่อสินค้าไปถึงงานแสดง
สินค้า บริษัทฯ จะทำการโชว์สินค้าและขายให้กับลูกค้าต่างประเทศภายในงานแสดงสินค้า ซึ่งบริษัทฯ จะ
ให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าภายในงานในอัตราร้อยละ 20-60 จากราคาขาย ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ
เป็นลูกค้าประจำ และเมื่องานแสดงสินค้าสิ้นสุดลง บริษัทฯ จะนำสินค้าที่ขายไม่ได้กลับเข้ามาใน
ประเทศไทย โดยได้จัดทำใบสุทธิสำหรับนำสินค้ากลับเข้ามาในประเทศไทย (ใบสุทธินำกลับ) เพื่อให้
บริษัทฯ ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ หารือว่า
1. การส่งสินค้าออกไปขายที่งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ถือเป็นการส่งออกตามมาตรา
77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่ง
ประมวลรัษฎากร หรือไม่ และหากต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ความรับผิดในการเสีย
ภาษีเกิดขึ้นเมื่อใด
2. เนื่องจากการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศดังกล่าว บริษัทฯ ได้ลงรายงานภาษีขายและยื่น
แบบ ภ.พ. 30 โดยใช้ราคา F.O.B. เป็นฐานภาษี ตามมาตรา 79/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ เข้าใจว่า เมื่อบริษัทฯ นำสินค้าที่ขายไม่ได้กลับเข้ามาในประเทศไทย บริษัทฯ ไม่ต้องออก
ใบลดหนี้ และไม่ต้องลงรายงานภาษีขายเพื่อลดยอดขายในรายงานภาษีขายของบริษัทฯ ความเข้าใจของ
บริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
3. ในการรับรู้รายได้ บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ ต้องใช้ราคาตามใบกำกับสินค้า
(Invoice) ที่ออกให้กับลูกค้าเป็นเกณฑ์ในการรับรู้รายได้ของบริษัทฯ ไม่ใช่ราคา F.O.B. หรือ
C.I.F.ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปแสดงและขาย ณ งานแสดงสินค้าใน
ต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรและยื่นใบขนสินค้าขาออกในนามของบริษัทฯ ถือเป็น
การขายโดยการส่งออก ตามมาตรา 77/1(8)(ค) และมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่ง
บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ถูกเรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการเพื่อใช้ในการ
ประกอบกิจการของตน ย่อมเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
มีสิทธินำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ แต่ภาษีซื้อ
ดังกล่าวต้องไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ นำอัญมณีและเครื่องประดับที่ขายไม่ได้กลับเข้ามาในราชอาณาจักร โดยบริษัทฯ
ได้จัดทำใบสุทธิสำหรับนำสินค้ากลับเข้ามาเพื่อให้บริษัทฯ ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากสินค้าที่นำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรเข้าลักษณะเป็นสินค้าที่จำแนกประเภทไว้
ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร จึงได้รับ
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องลง
รายการในรายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 87(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีหน้าที่ต้องลง
รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 9 ของประกาศ
อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและ
เงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษี และเอกสาร
หลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อ ตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่ง
ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากสินค้าที่บริษัทฯ นำกลับเข้ามาใน
ราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่บริษัทฯ ขายไม่ได้ในงานแสดงสินค้า จึงไม่ใช่เหตุการณ์อันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่
คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 82/10 แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
3. กรณีการรับรู้รายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ส่งออกสินค้า
เพื่อนำไปแสดงและขายในต่างประเทศโดยในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ได้ระบุชื่อบริษัทฯ เป็น
ผู้ส่งออกและเป็นผู้รับสินค้าในต่างประเทศเพื่อนำสินค้าไปจัดแสดงและขายให้แก่ผู้เข้าชมสินค้าในงาน
แสดงสินค้า สำหรับสินค้าส่วนที่ขายไม่ได้บริษัทฯ จะนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีการจัดทำใบสุทธิ
นำกลับซึ่งแสดงถึงรายละเอียดของประเภท ชนิด จำนวน ปริมาณ น้ำหนัก และมูลค่าของสินค้าที่นำกลับ
เข้ามา ดังนั้น ในการรับรู้รายได้ บริษัทฯ จึงต้องนำยอดขายของสินค้าที่ได้ขายให้กับลูกค้าใน
ต่างประเทศ ตามความเป็นจริง โดยใช้ราคาตามใบกำกับสินค้า (INVOICE) ที่บริษัทฯ ออกให้กับลูกค้า
ในต่างประเทศมารวมคำนวณเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ
ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32615

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020