เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5809
วันที่: 20 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80, มาตรา 82/3, มาตรา 85/6
ข้อหารือ: บริษัทฯ มีสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าร่วมโครงการจำหน่ายน้ำมันกับ
สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยโดยเป็นเรือสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของ
ราชอาณาจักรไทย สำหรับการซื้อน้ำมันดีเซลของโครงการฯ ได้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นผ่านผู้ค้าน้ำมันและ
นำไปจำหน่ายให้เรือประมงในเขตต่อเนื่องฯ ซึ่งในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาฯ ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 390) พ.ศ. 2544 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่
ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันสำหรับมูลค่าของฐานภาษีที่เกิดจากการขายน้ำมันให้แก่สถานีบริการ
จำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ เฉพาะการขายน้ำมันดีเซลที่ได้
กระทำระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ผู้ขายก็จะไม่เรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ดังนั้น การซื้อน้ำมันดังกล่าวจึงมีทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงขอทราบว่า
1. บริษัทฯ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทของการประกอบกิจการจำหน่าย
น้ำมันเชื้อเพลิงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยหรือไม่ และจะถือเป็นกิจการที่ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร
2. ในช่วงที่ผู้ขายเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ หรือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม และหากมีพระราชกฤษฎีกาฯยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มใน
ขณะที่ยังมีน้ำมันดังกล่าวเหลืออยู่ การจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และ
รายงานสินค้าและวัตถุดิบ จะปฏิบัติอย่างไร
3. เมื่อจำหน่ายให้เรือประมงในเขตต่อเนื่อง บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีได้หรือไม่ และจะ
คิดอัตราภาษีร้อยละ 7.0 หรือร้อยละ 0
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการขนส่งทางทะเล
และการขายปลีกสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และอื่น ๆ เมื่อบริษัทฯ ได้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมี
สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลง
รายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในสาระสำคัญ จึงต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้นตามมาตรา 85/6
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับช่วงเวลาระหว่างพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 390) พ.ศ. 2544 มีผลบังคับ
ใช้นั้น บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการซื้อน้ำมันดีเซลจากผู้ค้าน้ำมันตามนัยมาตรา 4
สำหรับมูลค่าของฐานภาษีที่เกิดขึ้นจากการขายน้ำมันดีเซลให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมงตาม
กฎหมายว่าด้วยเรือไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 390) พ.ศ. 2544
2. กรณีในช่วงที่ผู้ขายเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับระยะเวลาก่อนหรือหลังที่
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 390) พ.ศ. 2544 มีผลบังคับใช้ บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาใช้ใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2544 ถึง
วันที่ 31 ธันวาคม 2544 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็น
ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ให้นำไป
หักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(3) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
3. กรณีเมื่อบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้
เรือประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการจำหน่าย
สินค้าในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
383) พ.ศ. 2544 สำหรับช่วงระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 390) พ.ศ. 2544 มีผลบังคับใช้
บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายน้ำมันดีเซลกรณีตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้
เลขตู้: 66/32514


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020