เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5139
วันที่: 4 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุโลมให้ใช้ใบกำกับภาษีซื้อที่ระบุชื่อเดิมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(2)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ฟ. (บริษัทฯ) จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 เดิมชื่อบริษัท อ.
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อต่อกรมทะเบียนการค้า
กระทรวงพาณิชย์เป็นบริษัท บ. และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ฟ.
2. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 คำนวณภาษี
จากภาษีขายหักภาษีซื้อ ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภคบริโภค ให้บริการต่าง ๆ เช่น บริการไอเย็น
ปรับอากาศ บริการรักษาความสะอาด บริการรักษาความปลอดภัย บริการโทรศัพท์ และให้บริการเช่าตู้
ขายสินค้า ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทและ
สถานประกอบการจากบริษัท บ. เป็นบริษัท ฟ. พร้อมทั้งชำระค่าปรับกรณีแจ้งเปลี่ยนชื่อล่าช้าไว้แล้ว
3. บริษัทฯ ได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 ขออนุโลมให้ใช้ใบกำกับ-ภาษีที่ระบุชื่อ
เดิม (บริษัท บ.) ซึ่งบริษัทฯ ได้รับมาระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ใน
การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยชี้แจงว่าบริษัทฯ ได้แจ้งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ฟ.ต่อกรมทะเบียนการค้า
กระทรวง-พาณิชย์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 และแจ้งต่อ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (เดิม)
เปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้าอีกทั้งบริษัทฯ ได้แจ้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ ให้ผู้ขายหรือ
ผู้ให้บริการของบริษัทฯ ทราบล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ออกใบกำกับภาษีตามชื่อใหม่ แต่มีใบกำกับภาษีซื้อที่บริษัทฯ
ได้รับระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2545 จากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ
บางรายยังคงปรากฏชื่อเดิม ซึ่งบริษัทฯ ได้ติดต่อขอให้แก้ไขให้ถูกต้องและแจ้งให้ทราบว่า หากไม่ทำ
การแก้ไขผู้ออกใบกำกับภาษีจะมีโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด แต่มีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบางราย ไม่
สามารถยกเลิกใบกำกับภาษีเดิมและออกใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อใหม่ของบริษัทฯ ได้ เนื่องจากติดขัดใน
ระบบคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการทราบว่าต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่
กรมสรรพากรกำหนด แต่ไม่ได้รับความร่วมมือที่จะแก้ไขใบกำกับภาษีที่ผิดดังกล่าว
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ จากเดิมชื่อบริษัท บ. เปลี่ยนเป็นบริษัท ฟ. โดยแจ้งต่อ
กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 และแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อ สำนักงาน
สรรพากรพื้นที่ (เดิม) วันที่ 31 พฤษภาคม 2545 พร้อมชำระค่าปรับกรณีแจ้งเปลี่ยนแปลงล่าช้า และได้
รับใบกำกับภาษีโดยระบุชื่อเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ตาม
ข้อเท็จจริงดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 254 5 ถึงวันที่ 31
พฤษภาคม 2545 เป็นใบกำกับภาษีที่ได้รับก่อนแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (เดิม)
เป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อถูกต้องตามชื่อที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ไม่เป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ นำ
ภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากชื่อของบริษัทฯ ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2. ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2545 เป็นใบกำกับภาษี
ทีได้รับหลังจากการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ (เดิม) แล้ว เป็นใบกำกับภาษีที่ระบุ
ชื่อของบริษัทฯ ไม่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งถือเป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามมิให้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตาม
มาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ออกใบกำกับภาษีมีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000
บาท ตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32464

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020