เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.08)/693
วันที่: 20 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้ส่วนลด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/10, มาตรา 86/10, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าอุปโภค บริโภคและอื่น ๆ ในชื่อเครื่องหมายการค้า มี
สาขาที่จำหน่ายสินค้ารวม 32 สาขา คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า 1 แห่ง โดยมีลักษณะการ
ประกอบกิจการ ดังนี้
1.1 การซื้อสินค้า
บริษัทฯ มีแผนกจัดซื้อเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตกลงซื้อสินค้าต่าง ๆ จากผู้ผลิตหรือ
ผู้ขายส่งรายใหญ่ ซึ่งเงื่อนไขตามปกติผู้ขายจะต้องส่งสินค้าให้ถึงสาขาต่าง ๆ ทั้ง 32 สาขา ต่อมาในปี
2539 บริษัทฯ ได้จัดตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อ
ทำหน้าที่บริหารและดูแลสินค้าที่ซื้อมา จัดเก็บสำรองสินค้าให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับจัดจำหน่ายให้
แต่ละสาขาและทำความตกลงขอส่วนลดกับผู้ขายสินค้า หากผู้ขายรายใดไม่ต้องการไปส่งสินค้าให้กับสาขา
ต่าง ๆ ของบริษัทฯ ตามเงื่อนไขปกติ ผู้ขายสามารถจัดส่งสินค้าให้บริษัทฯ ได้ที่คลังสินค้าวังน้อยฯ โดย
ผู้ขายตกลงจะให้ส่วนลดซึ่งคำนวณได้จากราคาขายส่งที่ตกลงกับบริษัทฯ (เป็นราคาขายส่งที่ต้องส่งสินค้า
ถึงแต่ละสาขาของบริษัทฯ ตามใบสั่งซื้อ) ในอัตราและวิธีการที่กำหนด
1.2 การขายสินค้า
ลูกค้าของบริษัทฯ สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ที่สาขาบริษัทฯ ทุกสาขาตามราคาขายที่
ระบุไว้ในชั้นวางสินค้าแต่ละชนิดและจะต้องขนสินค้าด้วยตนเอง
2. การให้ส่วนลดจากการส่งสินค้าที่คลังสินค้าวังน้อยฯ
บริษัทฯ ตกลงกับผู้ขายสินค้าว่า หากผู้ขายนำสินค้ามาส่งที่คลังสินค้าวังน้อยฯ แทนที่ต้องส่ง
สินค้าไปยังสาขาต่าง ๆ ของบริษัทฯ ก็จะให้ส่วนลดที่เรียกว่า "ส่วนลดพิเศษ" ซึ่งจะระบุอยู่ในใบสั่งซื้อ
สินค้าแต่ละครั้งในชื่อต่าง ๆ กันตามประเภทสินค้า เช่น ส่วนลดอาหารสด (FFA) ส่วนลดค่ารับสินค้าส่ง
ผ่าน (CDA) ส่วนลดค่าจัดส่งสินค้าเสื้อผ้า(APA) เป็นต้น บริษัทฯ ได้รับส่วนลดจากผู้ขายตามอัตราที่
ตกลงกัน และเป็นการตกลงกับผู้ขายสินค้าแต่ละราย ๆ ไป
3. การให้ส่วนลดจากการรับสินค้าที่โรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ขายสินค้า
กรณีบริษัทฯ ขนส่งสินค้าไปส่งยังสาขาต่าง ๆ ของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ก็อาจไปรับสินค้า
ที่โรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ขายที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเส้นทางที่รถของบริษัทฯ จะวิ่งผ่านในเที่ยว
กลับ บริษัทฯ สามารถต่อรองให้ผู้ขายสินค้าลดราคาสินค้า เนื่องจากผู้ขายสินค้าสามารถประหยัดค่าขนส่ง
ได้ เรียกว่า "ส่วนลดค่ารับสินค้าระหว่างทาง" (BHA) ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะทาง น้ำหนัก ขนาด ประเภท
สินค้า เป็นต้น เมื่อตกลงกันได้บริษัทฯ จะระบุส่วนลดนี้ในใบสั่งซื้อสินค้าและเป็นการตกลงกับผู้ขายสินค้า
แต่ละรายไป
4. การให้ส่วนลดจากการฉลองเปิดสาขาใหม่ (New store discount)
บริษัทฯ จะได้รับส่วนลดเป็นพิเศษจากผู้ขายสินค้าในช่วงระยะเวลาที่เปิดสาขาใหม่ เพื่อ
ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเข้ามารู้จักสาขาใหม่และซื้อสินค้า ซึ่งบริษัทฯ และผู้ขายสินค้าจะได้รับผลประโยชน์
ร่วมกันในการที่จะขายสินค้าให้ได้มากขึ้นในอนาคต เมื่อพ้นช่วงระยะเวลาที่เปิดสาขาแล้วผู้ขายสินค้า
จะขายสินค้าให้บริษัทฯ ในราคาปกติ ส่วนลดดังกล่าวเป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในธุรกิจโดยเฉพาะ
ผู้ซื้อที่มีปริมาณการซื้อรวมจำนวนมาก ๆ และส่วนลดดังกล่าวมิได้มีเงื่อนไขที่บริษัทฯ จะต้องให้บริการใด ๆ
หรือกระทำการใด ๆ ตอบแทนแก่ผู้ขายสินค้าที่ให้ส่วนลดกับบริษัทฯ
5. การระบุส่วนลดตาม 2 - 4 ไว้ในใบสั่งซื้อสินค้ามี 2 ลักษณะ ดังนี้
5.1 ส่วนลดพิเศษหักในใบส่งสินค้าจะแสดงยอดส่วนลดในใบสั่งซื้อและหักส่วนลดจากราคา
สินค้าที่ตกลงในใบสั่งซื้อ โดยผู้ขายสินค้าจะออกใบกำกับภาษีตามยอดสุทธิหลังหักส่วนลด
5.2 ส่วนลดพิเศษเพื่อจัดทำใบลดหนี้ จะแสดงยอดส่วนลดในใบสั่งซื้อ แต่ไม่หักจากยอด
ราคาสินค้า ผู้ขายจะออกใบกำกับภาษีจากราคาสินค้าที่ตกลงในใบสั่งซื้อสินค้า และออกใบลดหนี้ ค่า
ส่วนลดให้ทุกสิ้นเดือน (ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม)
6. บริษัทฯ หารือว่า
6.1 ส่วนลดที่เกิดจากการตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทฯ กับผู้ขายสินค้าตามที่ปรากฏ
ในใบสั่งซื้อ (Purchase Order) ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ขายสินค้าออก
ใบกำกับภาษีและคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาขายสุทธิ
6.2 ผู้ขายสินค้าออกใบกำกับภาษีตามราคาสินค้าที่มีเงื่อนไขส่งมอบสินค้าที่สาขา โดย
ยังไม่หักส่วนลดกรณีตกลงให้ส่งสินค้าที่คลังสินค้า หรือกรณีบริษัทไปรับสินค้าที่โรงงานของผู้ขายหรือกรณี
ส่วนลดจากการฉลองเปิดสาขาใหม่ ถือว่าผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีที่คำนวณราคาสินค้าผิดพลาด สูงกว่าที่
เป็นจริงหรือผิดจากที่ตกลงกันไว้ ซึ่งผู้ขายมีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 82/10 และมาตรา 86/10
แห่งประมวลรัษฎากร
6.3 ส่วนลดที่เกิดจากข้อตกลงให้ส่งสินค้าที่คลังสินค้าของบริษัทฯ หรือกรณีบริษัทฯ ไปรับ
สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย ไม่ถือเป็นการให้บริการใด ๆ แก่ผู้ขายสินค้า
6.4 ส่วนลดจากการฉลองเปิดสาขาใหม่ ไม่ถือเป็นราคาค่าบริการใด ๆ เนื่องจากบริษัทฯ
ไม่มีหน้าที่ต้องให้บริการใด ๆ แก่ผู้ขายสินค้าที่ให้ส่วนลดพิเศษแก่บริษัทฯ
6.5 การได้รับส่วนลดกรณีตกลงให้ส่งสินค้าที่คลังสินค้าของบริษัทฯ หรือกรณีบริษัทฯ ไปรับ
สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย หรือกรณีฉลองเปิดสาขาใหม่ตาม 2 - 4 บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย
แนววินิจฉัย: 1. กรณีมีข้อตกลงให้ส่วนลดในการขายสินค้า ที่ผู้ขายสินค้าได้ลดให้ในขณะขายสินค้าและได้
แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกตามมาตรา 86/4 แห่ง
ประมวลรัษฎากร ส่วนลดดังกล่าวไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าตามมาตรา 79(1)
แห่งประมวลรัษฎากร และการให้ส่วนลดดังกล่าวมีภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
(1) หากการให้ส่วนลดดังกล่าวเกิดจากการสะสมยอดซื้อสินค้าตั้งแต่ครั้งก่อน ๆ ที่ผู้ขาย
สินค้ากำหนดเป็นเงื่อนไขในการให้ส่วนลดไว้ส่วนลดดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือ
ประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย บริษัทฯ ผู้ให้ส่วนลดต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา
ร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.
2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2544
(2) หากการให้ส่วนลดดังกล่าวเป็นส่วนลดทางการค้าตามปกติที่มิใช่ส่วนลดตาม (1)
ส่วนลดดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544
2. กรณีผู้ขายสินค้าออกใบกำกับภาษีตามราคาสินค้าที่มีเงื่อนไขส่งมอบสินค้าที่สาขาโดยยังไม่
หักส่วนลดตามข้อตกลง ได้แก่ ส่วนลดกรณีตกลงให้ส่งสินค้าที่คลังสินค้า หรือส่วนลดกรณีบริษัทฯ ไปรับ
สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย หรือกรณีส่วนลดจากการฉลองเป็นสาขาใหม่ แต่จะให้ส่วนลดภายหลังจากที่
ขายสินค้าไปแล้ว ส่วนลดดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการลดราคาสินค้าเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลง
กัน สินค้าชำรุดเสียหายหรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง อันเป็นเหตุให้
ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้ามีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 82/10(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ผู้ขายจึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้ขาย
สามารถออกใบลดหนี้ที่เป็นเอกสารภายในเพื่อปรับปรุงบัญชีรายได้ให้ถูกต้องได้
3. กรณีส่วนลดที่เกิดจากข้อตกลงว่า ผู้ขายสินค้านำสินค้าไปส่งยังคลังสินค้าของ บริษัทฯ หรือ
บริษัทฯ ไปรับสินค้าจากโรงงานของผู้ขายสินค้า ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับส่วนลดจากผู้ขายสินค้าตามอัตราที่
ตกลงกัน และส่วนลดจากการฉลองเปิดสาขาใหม่ หากการให้ส่วนลดดังกล่าวมิใช่ส่วนลดที่ผู้ขายสินค้าลด
ให้ในขณะขายสินค้า ย่อมเข้าลักษณะเป็นการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการ
ส่งเสริมการขาย ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 และส่วนลดดังกล่าวไม่ใช่
ค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32533


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020