เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5750
วันที่: 18 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ข้อหารือ: บริษัท อ. ได้หารือเกี่ยวกับการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ โดยมี
ข้อเท็จจริงความว่า ลูกค้าของบริษัทรายหนึ่ง (บริษัทจำกัด) ดำเนินการเช่าซื้อรถบรรทุกมูลค่า
18,000,000 บาท ผ่อนชำระจำนวน 48 งวด โดยชำระค่าเช่าซื้อแล้วจำนวน 24 งวด เป็น
จำนวนเงิน 10,000,000 บาท บริษัทจำกัดได้บันทึกค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าวด้วยวิธีเส้นตรงปีละ
3,600,000 บาท ปัจจุบันทรัพย์สินดังกล่าวมีค่าเสื่อมราคาสะสมทั้งสิ้น 7,200,000 บาท ต่อมา
บริษัทจำกัดไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือจำนวน 24 งวด เป็นจำนวนเงิน 8,000,000 บาทได้
บริษัทจำกัดจึงดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางเจ้าหนี้
ได้ขยายเวลาการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อจากเดิม 24 งวด เป็น 48 งวด ทำให้จำนวนเงินที่จ่ายชำระ
ค่าเช่าซื้อลดลงเหลือปีละ 2,670,000 บาท จึงหารือว่า ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ค่าเสื่อมราคาสะสมของทรัพย์สิน ณ ต้นปีปัจจุบันมีจำนวน 7,200,000 บาท หากบันทึกค่าเสื่อมราคาเป็น
จำนวนเงิน 3,600,000 บาท ทำให้ค่าเสื่อมราคาสะสม ณ วันสิ้นปีเท่ากับ 10,800,000 บาท แต่
ค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้วจนถึงสิ้นปีปัจจุบันเป็นจำนวนเงิน 12,670,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกัน
ค่าเสื่อมราคาสะสมของทรัพย์สินมีมูลค่าต่ำกว่าค่าเช่าซื้อที่ชำระไป ดังนั้น ค่าเสื่อมราคาที่จะเป็น
ค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ยังคงเป็นจำนวน 3,600,000 บาท ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: ทรัพย์สินที่บริษัทจำกัดเช่าซื้อ มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด
โดยหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราไม่เกินร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน แต่ต้อง
ไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามข้อเท็จจริงภายหลังที่
บริษัทจำกัดได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทจำกัด
จึงสามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ไม่เกินค่าเช่าซื้อซึ่งลดลงเหลือปีละ 2,670,000 บาท ตามมาตรา 4
และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
เลขตู้: 66/32507

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020