เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5353
วันที่: 12 มิถุนายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีส่งออกสินค้าไปเก็บไว้ที่โกดังในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 ตรี, มาตรา 65 ทวิ (6), มาตรา 65 ตรี (13)(14), มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มาตรา 77/1(8)(ค), มาตรา 87
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตถุงกอล์ฟและกระเป๋ากีฬาเพื่อการส่งออกโดยได้รับการ
ส่งเสริมการลงทุน แต่การผลิตและส่งออกสินค้าตามใบสั่งซื้อของลูกค้าต้องใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน
ทำให้เกิดความล่าช้าและไม่ทันความต้องการของตลาด ดังนั้น บริษัทฯ จึงผลิตสินค้าล่วงหน้าจำนวนมาก
และส่งไปเก็บไว้ในโกดังสินค้า ซึ่งบริษัทฯ ได้เช่าไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับสินค้าอย่างรวดเร็ว บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. กรณีจะปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารหลักฐานสำหรับการเช่าโกดังสินค้าเพื่อ
ประโยชน์ในการนำมาบันทึกค่าใช้จ่าย
2. ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ค่าภาษีอากร ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร
ค่าไปรษณีย์ ค่าบรรจุหีบห่อ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าซ่อมแซม และค่าบริการต่าง ๆ
บริษัทฯ สามารถนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
3. ค่าเช่าโกดังเก็บสินค้าต้องหักและนำส่งภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
4. เงินเดือนพนักงานผู้ดูแลโกดังจะต้องคำนวณภาษีอย่างไร ในแบบ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1 ก.
5. การส่งสินค้าออกไปต่างประเทศผ่านกรมศุลกากรถือเป็นการขายที่ต้องนำมาแสดงในแบบ
ภ.พ.30 หรือไม่ และลงรายงานภาษีขายอย่างไร เนื่องจากเป็นการส่งสินค้าออกไปเพื่อเก็บไว้เป็น
สินค้าสำเร็จรูปที่ยังมิได้มีการขาย
6. การลงรายการในบัญชีคุมสินค้าต้องปฏิบัติอย่างไร
7. สินค้าคงเหลือ ณ สิ้นปี จะถือเฉพาะที่อยู่ในประเทศไทยหรือรวมถึงต่างประเทศด้วย
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทฯ ส่งสินค้าออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยส่งไปเก็บไว้ในโกดังที่บริษัทฯ เช่า
ไว้เพื่อรอการจำหน่ายให้ลูกค้า กรณีดังกล่าวถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้นเป็นการขายในประเทศไทยด้วย
และให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้น ตามมาตรา
70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ไม่ต้องนำสินค้าที่เก็บไว้ในโกดังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดังกล่าวมารวมคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ทวิ (6)
แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการ
โดยเฉพาะของบริษัทฯ และเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่าย
ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) และ
(14) แห่งประมวลรัษฎากร และเอกสารหลักฐานของค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะต้องเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้ง
สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นรายจ่ายที่แท้จริงของกิจการ โดยมีหลักฐานหรือหนังสือรับรองโดยเจ้าหน้าที่
ของต่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือโดยบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเชื่อถือได้ และหลักฐานหรือ
หนังสือดังกล่าวนั้นจะต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและสมควรแก่การ
ดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ในทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์การพิจารณารายจ่ายที่สาขาในประเทศไทยได้จ่ายไปให้
สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือหรือการให้บริการ
แก่กิจการของสาขาในประเทศไทยที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และไม่เข้าลักษณะ
เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดในข้อ 2 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.13/2529 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคล
ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 66 และมาตรา 76
ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2529
สำหรับค่าเช่าโกดังที่บริษัทฯ จ่ายให้คู่สัญญาที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเงินค่าเช่าดังกล่าว
เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทย
กับประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้ให้เช่ามิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เงินค่าเช่าดังกล่าว
ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากรภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
บริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างในประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศโดยตรง เข้าลักษณะเป็นเงินได้
เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย พนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวเป็นผู้มีเงินได้ต้องเสีย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มี
หน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
บริษัทฯ ส่งสินค้าออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเก็บไว้ในโกดังก่อนที่จะจำหน่ายให้
ลูกค้าต่อไป การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรดังกล่าวถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8)(ค) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ
มีหน้าที่ต้องลงรายการในรายงานภาษีขายตามมูลค่าสินค้าส่งออกโดยให้ใช้ราคา เอฟ.โอ.บี.ของสินค้า
และจะต้องลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น รวมทั้ง
บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามปริมาณสินค้าที่จ่ายไปจริงภายในสาม
วันทำการนับแต่วันที่จ่ายสินค้า ทั้งนี้ ตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7(9) และข้อ
9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษี มูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและ
เอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการ ลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
เลขตู้: 66/32493

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020