เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.02)/404
วันที่: 12 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผิดสัญญาเช่าซื้อรถขุดและการบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1)(ข), มาตรา 77/1(10), มาตรา 78/1(1)
ข้อหารือ: หารือกรณี บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โดยมี ข้อเท็จจริงดังนี้
1. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 นางสาว จ. ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดตีนตะขาบจากบริษัท
ม. ราคา 3,650,000 บาท ชำระเงินวันทำสัญญา 410,000 บาท ส่วนที่เหลือ 3,240,000 บาท
ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 24 งวด งวดละ 135,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 17 มีนาคม 2540 งวด
ต่อไปชำระทุกวันที่ 17 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบโดยมี นาย ช. เป็นผู้ค้ำประกันและรับผิดอย่าง
ลูกหนี้ร่วม
2. บริษัทฯ รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันรายดังกล่าวจากบริษัท
ม. โดยได้แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้ นางสาว จ. และ นาย ช. ทราบแล้วต่อมานางสาว จ.
ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 และงวดที่ 11 ซึ่งต้องชำระในวันที่ 17 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา
จนกระทั่งวันที่ 28 มกราคม 2541 บริษัทฯ ได้ติดตามยึดรถคืนโดยถือว่าสัญญาเลิกกันและนำรถประมูล
ขายได้เงินต่ำกว่ามูลหนี้ค้างชำระ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น บริษัทฯ นำส่งภาษีถึงงวดที่ 17
3. หนี้ค้างชำระที่เหลือ บริษัทฯ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาว จ. เป็นจำเลยที่ 1 และ นาย
ช. เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยและเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ศาล
ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์รวมทั้งสิ้นจำนวน 340,000 บาท ค่า
ทนายความและค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 9,100 บาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ค่าเสียหายที่คำนวณจากค่าเช่าซื้อที่ผิดนัดและค่าเสื่อมราคาจำนวน 50,000 บาท
(2) ค่าเสียหายที่คำนวณจากค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ จำนวน 190,000 บาท
(3) ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถที่ยึดคืนจำนวน 100,000 บาท
(4) ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 340,000 บาท นับแต่ถัดจากวันฟ้องจนกว่า
จะชำระเสร็จสิ้น
(5) ค่าทนายความจำนวน 600 บาท
(6) ค่าธรรมเนียมศาลเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำนวน 8,500 บาท
4. ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2544 บริษัทฯ ได้จัดทำหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างบริษัทฯ
กับจำเลย (ลูกหนี้) ยอมรับหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 349,000 บาท และดอกเบี้ย ณ วันที่ 13
มิถุนายน 2544 จำนวน 27,735.62 บาท ตกลงชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จำนวน 322,000 บาท แบ่งชำระ
เป็น 23 งวด งวดละ 14,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 17 มิถุนายน 2544 งวดต่อ ๆ ไปชำระ
ทุกวันที่ 17 ของเดือนถัดไปเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้จำนวน 322,000 บาท เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา บริษัทฯ
ยกเว้นหนี้ส่วนที่เหลือให้ลูกหนี้และหากลูกหนี้ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดทั้งหมดและ
ลูกหนี้ยินยอมชำระหนี้จากจำนวน 349,100 บาท หักด้วยจำนวนเงินที่ชำระแล้วพร้อมทั้งยินยอมให้คิด
ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป
บริษัทฯ จึงหารือว่า
(1) บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำนวนเงินที่ได้รับตามคำพิพากษาแต่ละ
รายการอย่างไรและในกรณีที่มีทั้งมูลหนี้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะ
เลือกรับชำระในมูลหนี้ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจนครบก่อนแล้วจึงรับชำระมูลหนี้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภายหลังได้หรือไม่
(2) บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและฐานภาษีที่นำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะคิดจาก
ยอดหนี้ตามคำพิพากษาหรือหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากศาลมีคำพิพากษา รวมทั้งมีสิทธิเรียกเก็บ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกหนี้ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ มีสิทธิได้รับชำระเงินค่าเสียหาย ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียม
และดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลซึ่งมีภาระภาษี ดังนี้
1. ค่าเสียหายที่คำนวณจากการผิดสัญญาเช่าซื้อและค่าเสื่อมราคา จำนวน 50,000 บาท
และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถที่ยึดคืนจำนวน 100,000 บาท เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงิน
ค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย บริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินค่าเสียหายมารวมคำนวณเพื่อเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 4(1)(ข) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2536 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีกรณีได้รับเงินชดเชยความเสียหาย
2. ค่าเสียหายที่คำนวณจากค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจำนวน 190,000 บาท
ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นค่าบริการที่ได้รับจาการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร
ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 4(2)
ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.36/2536 ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ดังนั้น บริษัทฯ จึง
ต้องออกใบกำกับภาษีกรณีได้รับชำระเงินค่าขาดประโยชน์
3. กรณีดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 340,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นรวมทั้งค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาลไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการขาย
สินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 77/1(8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้อง
เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระเงินดังกล่าวจึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
และไม่ต้องออกใบกำกับภาษีแต่อย่างใด
4. กรณีมูลหนี้ตามคำพิพากษามีทั้งมูลหนี้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่บริษัทฯ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นงวด ๆ นั้น บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยรายรับที่ได้
รับชำระหนี้ตามสัดส่วนของมูลหนี้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เลขตู้: 66/32416


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020