เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4658
วันที่: 21 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการให้บริการผ่านระบบบาทเนต (BAHTNET) และการให้บริการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40, มาตรา 40(8), มาตรา 50 ทวิ (1)
ข้อหารือ: ธนาคารฯ ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการผ่านระบบ
บาทเนต (BAHTNET) และการให้บริการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี ดังนี้
1. ปัญหาทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการผ่านระบบบาทเนต (BAHTNET)
บาทเนต (BAHTNET) คือ เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งใช้ในการรับส่งข้อความระหว่าง
ธนาคารฯ กับสถาบันการเงินและองค์กรต่างๆ ซึ่งมีบัญชีเงินฝากกับ ธนาคารฯ เพื่อประโยชน์สำหรับการ
โอนเงินรายใหญ่ ซึ่งผลการชำระบัญชีสมบูรณ์ทันทีทีละรายการ และการส่งมอบและการชำระราคา
ตราสารหนี้ที่ ธนาคารฯ เป็นนายทะเบียนในลักษณะที่การส่งมอบตราสารหนี้และการชำระราคาเกิดขึ้น
พร้อมกันและมีผลสมบูรณ์โดยทันทีทีละรายการ เพื่อลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงิน และเพื่อให้การ
โอนเงิน การโอนตราสารหนี้ และการติดต่อธุรกิจทางการเงินเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ซึ่งผู้ใช้บริการผ่านระบบบาทเนตที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์และต้องการโอนเงินให้แก่บุคคลหรือ
นิติบุคคลซึ่งมีบัญชีเงินฝากอยู่ต่างธนาคาร สามารถใช้บริการได้ทันที โดยไม่ต้องทำสัญญาหรือข้อตกลง
ล่วงหน้ากับธนาคารพาณิชย์ แต่ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอนให้แก่ธนาคารผู้สั่งโอน ดังนี้
1.1 กรณีการโอนเงินภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ จังหวัดสมุทรปราการ
สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี อัตราค่าบริการต่อครั้งมีจำนวนแน่นอน คือ รายการละ 250
บาท ธนาคารผู้สั่งโอนคิดค่าธรรมเนียมรายการละ 150 บาท ธนาคารผู้รับโอนคิดค่าธรรมเนียมรายการ
ละ 100 บาท ธนาคารฯ เข้าใจว่า เมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารผู้สั่งโอนจำนวน
250 บาท ผู้ใช้บริการไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ความเข้าใจของธนาคารฯ ถูกต้องหรือไม่
1.2 กรณีการโอนเงินระหว่างจังหวัด อัตราค่าบริการการโอนต่อครั้งมีจำนวนไม่แน่นอน
และผันแปรตามมูลค่าการโอน แต่มีมูลค่าไม่ถึง 1,000 บาท ธนาคารฯ เข้าใจว่า ผู้ใช้บริการจะเป็นผู้
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากธนาคารผู้สั่งโอนสำหรับค่าธรรมเนียมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป
ความเข้าใจของ ธนาคารฯ ถูกต้องหรือไม่
1.3 ตามข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.112/2545 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่าย
เงินได้จากการให้บริการของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมาย
ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม
พ.ศ. 2545 กำหนดว่า “กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นค่าบริการให้กับธนาคารตามกฎหมายว่าด้วย
ธนาคารพาณิชย์ ... โดยเป็นการจ่ายค่าบริการที่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาว หากการจ่ายค่าบริการ
ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าบริการในครั้งต่อไป
ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับค่าบริการครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงิน
มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ โดยจะต้องนำเงินค่าบริการ
ที่จ่ายในครั้งก่อนๆ มารวมคำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายด้วย ..." ธนาคารฯ หารือว่า หาก
ผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมบาทเนตสำหรับการใช้บริการครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 รวมกันมีมูลค่าไม่ถึง
1,000 บาท ผู้จ่ายไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่าย แต่หากมีการจ่ายค่าธรรมเนียมครั้งที่ 3 ซึ่งเมื่อ
รวมกับค่าธรรมเนียมในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 แล้ว มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้อง
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าธรรมเนียมรวมทุกครั้ง หรือ ในอัตราร้อยละ 3.0
ของค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในครั้งที่ 3 และหากมีการจ่ายค่าธรรมเนียมในครั้งที่ 4 มีมูลค่าไม่ถึง 1,000
บาท ผู้จ่ายค่าธรรมเนียมจะต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการใน
ครั้งที่ 4 หรือไม่
2. ปัญหาทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนัก
หักบัญชี 3 วันทำการ (Bill of Collection-3D หรือ B/C-3D)
2.1 ปัจจุบัน ธนาคารฯ มีวิธีการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี 6
วันทำการ (B/C-6D) หรือ ระบบการแลกเปลี่ยนเช็คปลายทาง แต่เนื่องจากระบบการเรียกเก็บเงิน
ตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี 6 วันทำการมีปัญหาในทางปฏิบัติ ธนาคารฯ จึงจะยกเลิกระบบการ
เรียกเก็บเงินดังกล่าวและนำระบบการเรียกเก็บเงินต้นทางหรือแลกเปลี่ยนเช็คต้นทาง (ระบบ
B/C-3D) มาใช้แทน กล่าวคือ ถ้าสาขาธนาคารผู้รับฝากเช็คและสาขาธนาคารผู้จ่ายอยู่ต่างเขตสำนัก
หักบัญชี ให้สาขาธนาคารผู้รับฝากเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีส่งเช็คเพื่อเรียกเก็บเงินที่สาขาหลักของ
ธนาคารผู้จ่ายผ่านสำนักหักบัญชีจังหวัด โดยสาขาหลักของธนาคารผู้จ่ายจะดำเนินการเรียกเก็บจากสาขา
เจ้าของบัญชีต่อไป และดำเนินการแจ้งผลในลักษณะ Clearing 3 วันทำการนับจากวันแลกเปลี่ยนเช็ค
กล่าวคือ ธนาคารผู้จ่ายต้องแจ้งผลเช็คคืนภายใน 3 วันทำการ หากไม่แจ้งผลเช็คคืนภายในเวลาที่
กำหนดให้ถือว่าเช็คนั้นเรียกเก็บ โดยค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ
(ธนาคารผู้รับฝากเช็ค) และธนาคารผู้จ่ายจะแบ่งตามอัตราส่วนที่กำหนดร่วมกัน ดังนี้
(1) กรณีธนาคารเป็นสมาชิกสามัญ ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บจะคิดค่าธรรมเนียมจาก
ผู้ใช้บริการหมื่นละ 20 บาท จากจำนวนเงินหน้าเช็ค โดย ธนาคารฯ จะคำนวณและแบ่งค่าธรรมเนียม
ระหว่างธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บและธนาคารผู้จ่ายตามอัตราส่วนที่กำหนดร่วมกัน
(2) กรณีธนาคารเป็นสมาชิกสมทบ ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บจะคิดค่าธรรมเนียมจาก
ผู้ใช้บริการหมื่นละ 20 บาท จากจำนวนเงินหน้าเช็ค โดย ธนาคารฯ จะคำนวณและนำเงินไปให้กับ
ธนาคารผู้จ่ายทั้งจำนวน
2.2 ธนาคารฯ หารือว่า
(1) ค่าธรรมเนียมการใช้บริการในระบบ B/C-3D ตาม 2.1 (1) และ 2.1
(2) ผู้ใช้บริการต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ กรณีต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ธนาคารพาณิชย์จะ
มีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อย่างไร และจะใช้แนวทางและหลักเกณฑ์เดียวกันกับการ
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการโอนเงินรายย่อยทางอิเล็กทรอนิกส์ (Media Clearing) ได้หรือไม่
(2) กรณีการออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ธนาคารพาณิชย์ควร
ปฏิบัติอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการให้บริการโอนเงินผ่านระบบบาทเนต เนื่องจากผู้ใช้บริการเป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งมีความประสงค์จะโอนเงินให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลที่มี
บัญชีเงินฝากอยู่ต่างธนาคาร โดยการหักโอนบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการที่มีอยู่กับธนาคารผู้สั่งโอน
เข้าบัญชีเงินฝากของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอยู่กับธนาคารผู้รับโอน ซึ่งผู้ใช้บริการไม่ต้องทำสัญญาหรือ
ข้อตกลงล่วงหน้ากับธนาคารก่อนการใช้บริการ แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอน ให้แก่ธนาคารผู้สั่ง
โอน รายได้จากค่าธรรมเนียมการให้บริการโอนเงินผ่านระบบบาทเนตดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนให้แก่
ธนาคารผู้สั่งโอน ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ
ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544
และการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาระยะยาวซึ่งไม่สามารถคำนวณ
ค่าบริการที่ได้รับทั้งสิ้นเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ หากการจ่ายค่าบริการไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้ใช้บริการไม่มี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าบริการในครั้งต่อไปซึ่งเมื่อรวมกับค่าบริการครั้งที่
ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของ ค่าบริการ โดยต้องนำค่าบริการที่จ่ายในครั้งก่อนๆ มารวมคำนวณเพื่อ
หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนั้น เมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมบาทเนตครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ให้กับ
ธนาคารผู้สั่งโอนจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้ใช้บริการไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับ
ค่าบริการดังกล่าว และเมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมครั้งที่ 3 ซึ่งเมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมครั้งที่ 1
และครั้งที่ 2 มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา
ร้อยละ 3.0 ของค่าธรรมเนียม โดยต้องนำค่าธรรมเนียมที่ได้จ่ายในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มารวม
คำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย และสำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมในครั้งต่อๆ ไป แม้การจ่ายใน
แต่ละครั้งจะมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ
3.0 ของค่าธรรมเนียมที่จ่ายในแต่ละครั้ง
2. กรณีการให้บริการระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี 3 วันทำการ
(B/C-3D) ซึ่งค่าบริการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาระยะยาวให้ถือปฏิบัติดังนี้
2.1 กรณีผู้ใช้บริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่าย
ค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีให้แก่ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ (ธนาคาร
ผู้รับฝากเช็ค) รายได้จากค่าธรรมเนียมดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่ง
ประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ หากการจ่ายตาม
สัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา
ร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26
กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯลงวันที่ 15
กันยายน พ.ศ. 2544 และผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณที่จ่าย ให้กับธนาคาร
ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2.2 กรณีธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ (ธนาคารผู้รับฝากเช็ค) จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ
ธนาคารผู้จ่าย ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังนี้
(1) กรณีธนาคารเป็นสมาชิกสามัญ ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บจะจ่ายค่าธรรมเนียมการ
เรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการให้แก่ธนาคารผู้จ่ายตามอัตราส่วนที่
กำหนดร่วมกัน หากการจ่ายตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ
มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่ธนาคารผู้จ่าย ตาม
ข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 และ
ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับธนาคารผู้จ่ายในทันที
ทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ(1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีธนาคารเป็นสมาชิกสมทบ ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บจะจ่ายค่าธรรมเนียมการ
เรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชีที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการให้แก่ธนาคารผู้จ่ายทั้งจำนวน กรณี
ดังกล่าวถือว่าธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บเป็นตัวแทนของผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน หากการจ่ายตามสัญญา
รายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
จากธนาคารผู้จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ
ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ
ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับธนาคารผู้จ่ายใน
ทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้แบบพิมพ์
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บซึ่งเป็นตัวแทน แต่จะต้องระบุชื่อ ที่อยู่
และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ใช้บริการด้วย และให้ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บซึ่งเป็นตัวแทนส่ง
สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อผู้ใช้บริการจะได้นำไปยื่นรายการ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.53 ต่อไป กรณีดังกล่าว ผู้ใช้บริการไม่มีหน้าที่ต้องหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บอีก
เลขตู้: 66/32427


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020