เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4653
วันที่: 21 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์และค่าบริการอื่นให้แก่บริษัทต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70, มาตรา 40(8), มาตรา 40(3)
ข้อหารือ: กรณีดังต่อไปนี้ บริษัทฯ ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายหรือไม่
1. กรณีจ่ายเงินค่า Software ซึ่งใช้กับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทสาขา
ของบริษัทผู้ผลิต โดย Software ดังกล่าวได้นำเข้ามาพร้อมกับตัวเครื่อง (Hardware)โดยราคา
Software ในใบ Invoice นำเข้าได้แยกรายการต่างหากกับราคา Hardware
2. กรณีจ่ายเงินค่า Software ระบบปฏิบัติการ (Operating System OS) ไม่ว่าจะ
นำเข้ามาพร้อมผลิตภัณฑ์หรือนำเข้ามาต่างหากก็ตาม
3. กรณีจ่ายเงินค่า Application Software ที่ได้ซื้อแยกต่างหากจากเครื่องคอมพิวเตอร์
4. กรณีจ่ายเงินค่า Software ที่สั่งซื้อผ่านทางบริษัทสาขาซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ โดย
ประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์คือประเทศสหรัฐอเมริกา หากต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่าย จะใช้อัตราภาษีตาม
อนุสัญญาภาษีซ้อนของประเทศใด
5. กรณีจ่ายเงินค่า Software ที่เป็นการซื้อโดยตรงจากประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์
6. กรณีจ่ายเงินค่าอบรมในต่างประเทศ
7. กรณีจ่ายเงินค่าค้ำประกันคุณภาพสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ (Warranty Fee)
8. กรณีจ่ายเงินค่า Channel Fee ซึ่งเป็นค่าอนุญาตให้ช่างของบริษัทฯ ดำเนินการซ่อม
เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้ผลิตให้แก่ลูกค้ารายใดก็ได้ แม้บริษัทฯ จะไม่ได้เป็นผู้ขาย
เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นก็ตาม
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลัก (Hardware) เช่น ตัวเครื่องจักร หรือ
เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งบรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) มาพร้อมกับอุปกรณ์หลัก และ
Software ทำหน้าที่ควบคุมให้อุปกรณ์หลักใช้งานได้ โดยมิได้กำหนดแยกราคา Software ออกจาก
ราคาอุปกรณ์หลัก (Hardware) Software ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์หลัก เมื่อบริษัทฯ จ่าย
เงินค่า Software ในลักษณะดังกล่าว จึงไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ นำเข้า Software ไม่ว่าจะนำเข้าโดยบรรจุมาพร้อมกับตัวเครื่องหรือ
นำเข้าโดยแยกต่างหากจากตัวเครื่อง และไม่ว่าจะเป็น Software ระบบปฏิบัติการ (Operating
Software-OS) หรือ Application Software หากได้กำหนดแยกราคา Software ออกจากราคา
ของตัวเครื่อง การจ่ายเงินค่า Software ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจาก
เงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่
ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศซึ่งบริษัทฯ ได้สั่งโปรแกรมเพื่อนำเข้าด้วย
3. กรณีการจ่ายเงินค่า Software ที่สั่งซื้อผ่านบริษัทสาขาซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ โดย
ประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์คือประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากบริษัทฯ จ่ายเงินค่า Software ไปยังบริษัท
สาขาซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ สาขาในประเทศสิงคโปร์ดังกล่าวย่อมมีถิ่นที่อยู่ตาม
สำนักงานใหญ่ ทั้งนี้ ไม่ว่าประเทศที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่จะเป็นประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ Software
หรือไม่ก็ตาม บริษัทฯ ต้องพิจารณาการหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายค่า Software ดังกล่าว
ประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศซึ่งสำนักงานใหญ่ของบริษัทสาขาในประเทศ
สิงคโปร์ตั้งอยู่
หากบริษัทฯ จ่ายเงินค่า Software ที่ซื้อโดยตรงกับประเทศเจ้าของลิขสิทธิ์ การจ่ายเงินค่า
Software ดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศ เจ้าของ
ลิขสิทธิ์นั้น
4. การจ่ายเงินค่าอบรมในต่างประเทศ เป็นกรณีบริษัทต่างประเทศให้บริการอบรมแก่
พนักงานของบริษัทฯ หากการอบรมดังกล่าวมิได้เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยี สูตร หรือ
กรรมวิธีลับใด ๆ เงินค่าอบรมที่บริษัทฯ จ่ายไปยังบริษัทต่างประเทศ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา
70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากการอบรมดังกล่าวมีการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยี สูตร หรือ
กรรมวิธีลับใด ๆ เงินค่าอบรมที่บริษัทฯ จ่ายไปยังบริษัทต่างประเทศ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศซึ่งบริษัทฯ
ได้จ่ายเงินค่าอบรมดังกล่าว
5. กรณีจ่ายเงินค่าค้ำประกันคุณภาพสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (Warranty fee)ซึ่ง
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หากบริษัทฯ ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการต่างประเทศ และสินค้าดังกล่าวชำรุด
เสียหายภายในช่วงระยะเวลา 1 ปี บริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ขายจะให้บริการซ่อมแก่บริษัทฯ โดยไม่
เรียกเก็บค่าบริการอีก ทั้งนี้ ค่าค้ำประกันคุณภาพสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ได้จ่ายรวมไปกับค่าสินค้า
เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นกรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าทั้งจำนวน แม้ในราคาดังกล่าวสามารถแยกค่า
ค้ำประกันคุณภาพสินค้าออกมาก็ตาม บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด
6. กรณีจ่ายเงินค่า Channel Fee ซึ่งเป็นค่าอนุญาตให้ช่างของบริษัทฯ ดำเนินการซ่อม
เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้ผลิตให้แก่ลูกค้ารายใดก็ได้ แม้บริษัทฯ จะไม่ได้เป็นผู้ขาย
เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นก็ตาม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมระบบการเปิดปิดประตูอัตโนมัติ หากผู้
ซ่อมไม่มีความรู้ในเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการควบคุมระบบการเปิดปิดประตูดังกล่าวก็ไม่
สามารถดำเนินการซ่อมได้ ซึ่งช่างของบริษัทฯ อาจศึกษาวิธีการซ่อมได้เองจากคู่มือ หรือบริษัทฯ ได้ส่ง
ช่างไปฝึกเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและวิธีการซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมระบบการเปิดปิดประตู
ดังกล่าว ณ บริษัทผู้ผลิตซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ กรณีดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาดังนี้
6.1 กรณีช่างของบริษัทฯ ได้ศึกษาวิธีการซ่อมด้วยตนเองจากคู่มือ โดยมิได้เรียนรู้เทคโนโลยี
สูตร หรือกรรมวิธีพิเศษใดๆ ในการซ่อมจากบริษัทผู้ผลิต เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าอนุญาตให้ช่างของบริษัทฯ
ดำเนินการซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้ผลิตให้แก่ลูกค้ารายใด ๆ เป็นกรณีบริษัทฯ จ่าย
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ บริษัทฯ
ไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
6.2 กรณีบริษัทฯ ส่งช่างไปฝึกเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและวิธีการซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่
ใช้ควบคุมระบบการเปิดปิดประตูดังกล่าว ณ บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศและบริษัทผู้ผลิตได้ถ่ายทอดความรู้
ทางเทคโนโลยี สูตร และกรรมวิธีพิเศษในการซ่อมนั้นให้แก่ช่างของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่า
อนุญาตให้ช่างของบริษัทฯ ดำเนินการซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ผลิตให้แก่ลูกค้ารายใด ๆ เป็นกรณี
บริษัทฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ
บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ
ต้องพิจารณาประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่บริษัทผู้ผลิตตั้งอยู่
เลขตู้: 66/32424


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020