เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.09)/514
วันที่: 16 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับประกันภัยรถยนต์
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ รับทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กับบริษัท ก. ผู้เอาประกันภัยเมื่อรถยนต์คัน
ดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ บริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าซ่อมให้แก่อู่ซ่อมรถ โดยบริษัทฯ จะคำนวณหัก
ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าซ่อมทั้งหมด ในกรณีนี้บริษัท ก. ต้องรับผิดใน
ค่าเสียหายส่วนแรกตามเงื่อนไขในกรมธรรม์เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวนี้เมื่อ
บริษัทฯ เรียกเก็บคืนจากบริษัท ก. มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
2. บริษัทฯ รับทำกรมธรรม์ประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยรายเดียวกันหลายกรมธรรม์ เช่น
กรมธรรม์ 3 ฉบับ ค่าเบี้ยประกันภัยฉบับละ 400 บาท หากผู้เอาประกันภัยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมกัน
เป็นเงิน 1,200 บาท ผู้เอาประกันภัยต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่
3. บริษัทฯ รับทำกรมธรรม์ประกันภัยโดยตกลงค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 700 บาท ต่อมามี
การตกลงเพิ่มเบี้ยประกันภัยอีก 500 บาท หากมีการชำระค่าเบี้ยประกันภัยทั้งจำนวนหรือแบ่งชำระเป็น
คราว ๆ ผู้เอาประกันภัยต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ และจากฐานใด
4. กรณีบริษัทฯ ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้เกิน เช่น ค่าเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ไม่ถึง
1,000 บาท แต่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้แล้ว บริษัทฯ จะนำภาษีที่ถูกหักไว้ดังกล่าวมาเป็น
เครดิตภาษีในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าจ้างทำของตามมาตรา 40(8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง
ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2528 ตามข้อ 4 ของ
เอกสารแนบตารางกรมธรรม์ประกอบกับข้อ 4 ของคำสั่งนายทะเบียนกรมการประกันภัย มีข้อความระบุ
ว่า “ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรกเอง... บริษัทจะจ่ายแทนผู้เอาประกันภัย
ไปก่อน... ผู้เอาประกันภัยต้องใช้คืนให้บริษัทภายใน 7 วันนับแต่ได้รับหนังสือเรียกร้องจากบริษัท” เมื่อ
บริษัทฯ ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ไปก่อนแล้วจึงมีสิทธิเรียกคืนจากบริษัท ก. ตามกรมธรรม์ จึงเป็นกรณีที่
บริษัทฯ ได้กระทำการแทนบริษัท ก. ผู้เอาประกันภัยในส่วนของการชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่
ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 8 ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่า
ซ่อมรถยนต์ที่จ่ายแทนบริษัท ก. ไปก่อนดังกล่าวนี้คืน บริษัท ก. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่
อย่างใด
2. กรณีบริษัทฯ รับทำกรมธรรม์ประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยรายเดียวกันหลายกรมธรรม์ โดย
ค่าเบี้ยประกันภัยแต่ละฉบับไม่เกินหนึ่งพันบาทและผู้เอาประกันภัยจ่ายเบี้ยประกันภัยพร้อมกันเป็น
จำนวนเงินตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป เป็นกรณีการทำสัญญาที่ผู้จ่ายเงินรายหนึ่งรายใดทำสัญญาในลักษณะ
ทำนองเดียวกันหลาย ๆ สัญญากับผู้รับเงินรายเดียว ซึ่งแต่ละสัญญามีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท แต่จ่ายเงิน
หลาย ๆ สัญญาดังกล่าวรวมกันเป็นจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไปผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ใน
อัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน
พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน
พ.ศ. 2544 ประกอบกับข้อ 1(4) ของคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 ฯ ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2544
3. กรณีที่ทำสัญญาประกันภัยโดยตกลงค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินจำนวน 700 บาท แล้วต่อมามี
การสลักหลังในกรมธรรม์ฉบับเดียวกันเพิ่มเบี้ยประกันภัยอีก 500 บาท การชำระเบี้ยประกันภัยตาม
สัญญาประกันภัยฉบับดังกล่าว จึงเป็นการชำระเงินตามสัญญาที่มีจำนวนเงินตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ตามข้อ
12/5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไข
เพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ดังนั้น เมื่อ
ผู้เอาประกันภัยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในครั้งต่อมาหลังจากสลักหลังเพิ่มเงินค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว จึงมี
หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ว่าการจ่ายเงินในครั้งนั้น ๆ จะชำระพร้อมกันทั้งจำนวนตั้งแต่หนึ่ง
พันบาทหรือแบ่งกันชำระแล้วจะไม่ถึงหนึ่งพันบาท โดยผู้เอาประกันภัยต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ใน
อัตราร้อยละ 1.0 ของจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงในครั้งนั้น ๆ
4. กรณีการจ่ายเงินตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่
ตามกฎหมายที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งอย่างไรก็ตาม หากผู้จ่ายเงินได้ทำการหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย จากยอดเงินในกรณีดังกล่าวไว้และนำส่งต่อกรมสรรพากรไว้แล้ว ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่
ผู้ต้องเสียภาษีได้รับตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้มีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติอย่างใด
อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
1) ยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่
กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
2) ผู้มีเงินได้หากไม่ประสงค์จะขอคืนก็มีสิทธิใช้เป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้
สำหรับปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้นตามมาตรา 3 เตรส ประกอบกับมาตรา 60 แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32423


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020