เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4202
วันที่: 7 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการคำนวณกำไรสุทธิและการเฉลี่ยภาษีซื้อ
ข้อกฎหมาย: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์หลักในการค้าอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทฯ ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน
จากกรมที่ดิน บริษัทฯ มีที่ดินประมาณ 1,000 ไร่เศษ โดยการจัดสรรแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยเพื่อขาย
โดยมีการพัฒนาและปรับปรุงที่ดินเพิ่มเติม เช่น ถมดิน ทำถนน ท่อระบายน้ำ ระบบประปา ไฟฟ้า และ
สาธารณูปโภคอื่น ๆ จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ ได้ขายที่ดินแล้ว 2 แปลง โดยจ่ายเป็นเงินมัดจำงวดแรกในปี
พ.ศ. 2540 ซึ่งตัดเป็น รายได้ในปี พ.ศ. 2541 จำนวน 48 ล้านบาท และงวดหลังในปี พ.ศ. 2542
จำนวน 12 ล้านบาท สำหรับรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ เริ่มมีรายได้ในเดือนมกราคม
2543 จากการดูแลรักษาสาธารณูปโภคคือ บ่อน้ำ ระบบความปลอดภัย ไฟฟ้าแสงสว่าง ท่อระบายน้ำ
ระบบดับเพลิง ถนนและสวนสาธารณะ เป็นต้น
2. จากการตรวจสอบใบกำกับภาษีซื้อของบริษัทฯ ในเดือนพฤษภาคม 2540 มีจำนวน 2
ฉบับ เป็นภาษีซื้อจากการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และปลั๊กไฟ มูลค่าสินค้า 47,000 บาท และ 450 บาท
ภาษีซื้อ 3,290 บาท และ 31.50 บาท ซึ่งบริษัทฯ นำมาขอคืนภาษีทั้งจำนวน สำหรับเดือนกรกฎาคม
2542 มีเพียงภาษีชำระเกินยกมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นภาษีซื้อจากการซื้อวัสดุอุปกรณ์ และ
ค่าแรงในการก่อสร้างระบบน้ำบาดาล ค่าตรวจสอบระบบน้ำ เครื่องเติมอากาศ ซึ่งบริษัทฯ ได้ขอคืนภาษี
ทั้งจำนวน ด้านยอดขายบริษัทฯ ไม่มีรายได้ที่ยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยในปี พ.ศ. 2540 และ
พ.ศ. 2542 บริษัทฯ มีรายได้จากการค้าอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว และได้รับการ
ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมเป็นเวลา 8 ปี นับจากปี พ.ศ. 2539
แนววินิจฉัย: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์โดยการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ในลักษณะ
จัดสรรขายโดยมีการพัฒนาและปรับปรุงที่ดินเพิ่มเติม บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและปรับปรุงที่ดิน
และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หากเป็นการกระทำนอก ที่ดินแปลงที่ขายและ
เป็นส่วนที่กำหนดไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน โครงการนั้น และเป็นส่วนที่
พัฒนาแล้วพร้อมจะขาย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นมูลค่าต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์แปลงที่ขาย ตามข้อ
5(4) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 ฯ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 บริษัทฯ ต้องนำ
รายการจ่ายดังกล่าวมารวมคำนวณเฉลี่ยเป็นต้นทุนของที่ดินแปลงที่ขาย ตามข้อ 5(7) วรรคสาม ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 ฯ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 และนำมารวมกับมูลค่าต้นทุน
ของอสังหาริมทรัพย์แปลงที่ขายอันได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่กระทำลงในที่ดินแปลงที่ขาย ตามข้อ 5(1) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 ฯ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 เพื่อนำมาหักเป็นรายจ่ายใน
การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
ภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ มีภาษีซื้อจากการซื้อ
เครื่องคอมพิวเตอร์และปลั๊กไฟ ภาษีซื้อจากการซื้อวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงในการสร้างระบบน้ำบาดาล ค่า
ตรวจสอบระบบน้ำ เครื่องเติมอากาศ ถือได้ว่าบริษัทฯ ได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการ
ประกอบกิจการของบริษัทฯ ไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้
อย่างชัดเจนว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด บริษัทฯ ต้อง
เฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ หากเป็นกรณีเริ่มประกอบกิจการหรือ
ประกอบกิจการมาแล้วแต่ยังไม่มีรายได้ บริษัทฯ ต้องประมาณการรายได้ของกิจการทั้งสองประเภทของปี
ที่เริ่มมีรายได้ (ปีแรกที่มีรายได้เกิดขึ้นจริงไม่น้อยกว่า 6 เดือนภาษี) โดยปฏิบัติตามข้อ 2 ข้อ 3 และ
ข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.
2535
เลขตู้: 66/32408


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020