เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/4078
วันที่: 1 พฤษภาคม 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนกิจการของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74(1)(ค)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้หารือกรณี บริษัท ก. จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ประกอบกิจการ
ผลิตวัตถุดิบเพื่อส่งให้ บริษัท ข. จำกัด ทำการผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่อไป โดยบริษัท ก. จำกัด ได้รับ
การส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2 บัตร กล่าวคือ บัตรแรกเป็นการ
ส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตวัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง
และบัตรที่สองเป็นการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง ซึ่งทั้งสองบัตรได้รับสิทธิ
ประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะเวลา 8 ปี
บริษัท ข. จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ประกอบกิจการผลิตสินค้าสำเร็จรูป
โดยใช้วัตถุดิบประเภทที่สองที่ผลิตโดยบริษัท ก. จำกัด โดยบริษัท ข. จำกัดได้รับการส่งเสริมการลงทุน
จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตสินค้าสำเร็จรูปดังกล่าว ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์
ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยผู้ถือหุ้นของบริษัท ก. จำกัด และบริษัท ข. จำกัด
เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน
ทั้งนี้ บริษัท ก. จำกัด และบริษัท ข. จำกัด มีความประสงค์จะปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ
เพื่อความมีประสิทธิผล และลดความซ้ำซ้อนในการบริหารงาน โดยการโอนบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2
บัตร รวมทั้งกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดของบริษัท ก. จำกัด ไปยังบริษัท ข.จำกัด โดยบริษัท
ก. จำกัดจะจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่ได้มีการโอนกิจการ
หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจแล้ว บริษัท ข. จำกัด จะมีส่วนการผลิตทั้งหมด 3 แผนก ได้แก่ แผนกผลิต
วัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง แผนกผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง และแผนกผลิตสินค้าสำเร็จรูป โดยบริษัท ข.
จำกัด จะยังคงเหลือสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปีสำหรับ
การประกอบกิจการผลิตวัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง 5 ปีสำหรับการประกอบกิจการผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง
และ 7 ปีสำหรับการประกอบกิจการผลิตสินค้าสำเร็จรูป
บริษัทฯ เห็นว่า
1. เนื่องจากวัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง และบริษัท
ข. ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัตถุดิบประเภทที่สอง ดังนั้น เมื่อ
บริษัท ก. จำกัด ได้โอนกิจการผลิตและบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 บัตรไปยังบริษัท ข. จำกัดแล้ว
บริษัท ข. จำกัด จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้จากการขายสินค้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น โดย
ไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยเป็นรายได้จากการขายสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง และที่ผลิตจาก
วัตถุดิบประเภทที่สองแต่อย่างใด รวมทั้งไม่จำเป็นต้องคิดกำไรจากการส่งวัตถุดิบประเภทที่หนึ่งให้แก่
แผนกผลิต วัตถุดิบประเภทที่สอง เนื่องจากแต่ละแผนกเป็นกิจการที่อยู่ในนิติบุคคลเดียวกัน และเพื่อมุ่ง
ประสงค์ผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท ข. จำกัด นั่นเอง
2. กรณีที่บริษัท ก. จำกัด โอนกิจการทั้งหมด และเลิกบริษัท และชำระบัญชีใน
รอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ราคาทรัพย์สินที่ บริษัท
ก.จำกัด โอนให้กับบริษัท ข. จำกัด นั้นจะโอนตามราคาทุน หรือราคาตลาดก็ได้ หากมีกำไร
(ราคาตลาด ณ วันโอนสูงกว่าราคาทุนตามบัญชี) หรือขาดทุน (ราคาตลาด ณ วันโอนต่ำกว่าราคาทุนตาม
บัญชี) เกิดขึ้นจากการโอนทรัพย์สินดังกล่าว บริษัท ก. จำกัด ผู้โอนไม่ต้องนำกำไรหรือ ขาดทุนดังกล่าว
มารวมคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้โอนกิจการและเลิกบริษัท และบริษัท ข.จำกัด
ผู้รับโอนจะต้องใช้ราคาทุนที่บริษัท ก. จำกัด ได้โอนทรัพย์สินมาเป็นต้นทุนในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท ข. จำกัด เพื่อคำนวณค่าเสื่อมราคา หรือเพื่อคำนวณกำไรขาดทุน
หากมีการขายสินทรัพย์ดังกล่าวในอนาคต ไม่ว่าบริษัท ข. จำกัด จะรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวจากบริษัท
ก. จำกัด ตามราคาทุนหรือราคาตลาดก็ตาม
อนึ่ง การโอนกิจการทั้งหมดเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 74(1)(ค) แห่ง
ประมวลรัษฎากร บริษัท ก. จำกัด ผู้โอนจะจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่
โอนกิจการนั้น หรือจะโอนกิจการก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันก็ได้ หากได้ทำ
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการควบเข้ากันหรือ
โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดเพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27
กันยายน พ.ศ. 2542
3. ผู้ถือหุ้นในบริษัท ก. จำกัด ผู้โอนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำ
ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทโอนกิจการทั้งหมดซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ซึ่งเป็นเงินได้
ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(17) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบข้อ 2(50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความใน
ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และผู้ถือหุ้นในบริษัท ก. จำกัด ผู้โอนซึ่งเป็น
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นไม่ต้องนำผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทโอนกิจการทั้งหมดซึ่ง
ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 5 สัตตรส แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.
2500
4. บริษัท ก. จำกัด ผู้โอนได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจาก
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัท ก. จำกัด ผู้โอนมีไว้ในการประกอบกิจการตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับ
ที่ 10) พ.ศ. 2500 มาตรา 5 โสฬส และบริษัท ก. จำกัด จะได้รับยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับ
ตราสารที่เกิดขึ้นจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่
10) พ.ศ. 2500
แนววินิจฉัย: 1. เนื่องจากวัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง และบริษัท
ข. ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัตถุดิบประเภทที่สอง ดังนั้น เมื่อ
บริษัท ก. จำกัด ได้โอนกิจการผลิตและบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้ง 2 บัตรไปยังบริษัท ข. จำกัดแล้ว
บริษัท ข. จำกัด จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้จากการขายสินค้าสำเร็จรูปทั้งสิ้น โดย
ไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยเป็นรายได้จากการขายสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัตถุดิบประเภทที่หนึ่ง และที่ผลิตจาก
วัตถุดิบประเภทที่สอง ทั้งก่อนและหลังจากที่สิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามบัตรแรก
และบัตรที่สองหมดลง ทั้งนี้ เนื่องจากการประกอบกิจการทั้งสามแผนกก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการผลิต
สินค้าสำเร็จรูปของบริษัท ข. จำกัด ผู้รับโอนแต่เพียงผู้เดียว และบริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องคิดกำไรจาก
การส่งวัตถุดิบประเภทที่หนึ่งให้แก่แผนกผลิตวัตถุดิบประเภทที่สอง เนื่องจากแต่ละแผนกเป็นกิจการที่อยู่ใน
นิติบุคคลเดียวกัน และเพื่อมุ่งประสงค์ผลิตสินค้าสำเร็จรูปที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท ข. จำกัด
นั่นเอง
2. การโอนทรัพย์สินของบริษัทผู้โอนไปยังบริษัทผู้รับโอนนั้นให้ตีราคาตามราคาตลาดในวันที่
จดทะเบียนเลิก อย่างไรก็ดี บริษัทผู้โอนไม่ต้องนำกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการโอนมารวมคำนวณ
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทผู้โอนได้โอนกิจการและเลิกบริษัทตามมาตรา
74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร อนึ่ง การโอนกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรมาตรา
74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ผู้โอนกิจการจะต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีใน
รอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ดังกล่าว
3. หากบริษัทผู้โอนจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการ
โอนกิจการและได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดี
กรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผู้ถือหุ้นและบริษัทผู้โอนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
ตามความเห็นบริษัทฯ ในข้อ 3 และข้อ 4 นั้นถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 66/32399


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020