เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./3999
วันที่: 29 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา (1)(ฐ)
ข้อหารือ: กรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร รายนาง พ.
สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นาง พ. มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลการตลาดโดยมีการทำสัญญาจ้างงานกับ
บริษัทผู้ว่าจ้างคือ บริษัท อ. โดย นาง พ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2542 แสดง
รายได้ดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน
1,320,000 บาท โดยยังมิได้นำรายได้ดังกล่าวมายื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่ง
สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ (เดิม) เห็นว่า รายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้ทำการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2542 ใหม่
เป็นเหตุให้ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
และต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับตามมาตรา 89(1) และ (2) และเงินเพิ่มตามมาตรา
89/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีเช่นนี้ในปีภาษี 2539 นาง พ. ได้ถูก สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่
(เดิม) ประเมินภาษี นาง พ. คัดค้านการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีผลคำวินิจฉัยว่า รายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินชอบแล้ว นาง พ. ไม่มีข้อโต้แย้งในประเด็น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ได้โต้แย้งในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มว่ารายได้ดังกล่าวเป็นบริการที่ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: เงินได้ตามสัญญาจ้างงานระหว่าง นาง พ. กับ บริษัท อ. (ผู้ว่าจ้าง) เข้าลักษณะเป็น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้ที่ นาง พ. ได้รับจากบริษัทฯ นั้น
จึงเป็นเงินได้ที่เกิดจากสัญญาการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการ
ให้บริการตามสัญญาดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร นาง พ. จึงมีหน้าที่ต้องเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32385


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020