เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3626
วันที่: 18 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีปลดหนี้ดอกเบี้ยค้างจ่ายจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65, มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542
ข้อหารือ: บริษัท ท. ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 กับบรรษัทฯ
ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ประกอบด้วย
1. เงินต้นทั้งหมด 136,517,500 บาท
2. ดอกเบี้ยค้างจ่าย (ก่อนลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้) จำนวน
45,080,978.48 บาท
จึงขอหารือว่า
1. กรณีที่บริษัทฯ ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวได้ บรรษัทฯ จะยกหนี้ส่วนดอกเบี้ย
ค้างจ่ายให้จำนวน 34,080,978.48 บาท คงต้องชำระเพียง 11,000,000 บาท บริษัทฯ จะได้รับ
สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ. 2542 หรือไม่
2. ถ้าบริษัทฯ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวน 34,080,978.48
บาท บริษัทฯ ต้องแสดงรายการในแบบ ภ.ง.ด.50 ปี 2543 ในข้อ “รายได้ส่วนที่ได้รับการลดหย่อน
หรือยกเว้นภาษีฯ” ใช่หรือไม่
3. ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (วันที่ 30
พฤศจิกายน 2543)
(1) ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม
2543 ที่ไม่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายหรือบันทึกขาดไปให้นำมาปรับปรุงในแบบ ภ.ง.ด.50 ปี 2543 ใน
ข้อ “รายการปรับปรุงอื่นๆ” ได้ใช่หรือไม่
(2) ดอกเบี้ยจ่ายระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปีถัดไปให้ปรับปรุง
เพิ่มเติมในแบบ ภ.ง.ด.50 ของแต่ละปีในข้อ “รายการปรับปรุงอื่นๆ” ตลอดอายุสัญญาปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีที่บริษัทฯ ได้รับการปลดหนี้ดอกเบี้ยค้างจ่ายตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่าง
บริษัทฯ กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ
สถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวนที่บริษัทฯ ได้รับการ
ปลดหนี้ดังกล่าว ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 360) พ.ศ.
2542
2. กรณีที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตาม 1 บริษัทฯ ต้องแสดงรายการดังกล่าวใน
แบบ ภ.ง.ด.50 ปี 2543 ในรายการ “รายได้ส่วนที่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีฯ”
3. กรณีที่บริษัทฯ มีรายจ่ายดอกเบี้ยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ต้องบันทึกรายการดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นโดยใช้หลักเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และ
หากบริษัทฯ ไม่ได้บันทึกบัญชีหรือบันทึกขาดไปทำให้การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของปี 2543 หรือปีถัดไป
ไม่ถูกต้อง บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติมของแต่ละปีโดยต้องแสดงรายการปรับปรุง
ดังกล่าว ในรายการ “รายการปรับปรุงอื่นๆ”
เลขตู้: 66/32366


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020