เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3625
วันที่: 18 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้ซื้อเป็นผู้นำเข้าสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8), มาตรา 77/2(1), มาตรา 79(4), มาตรา 77/1(11), มาตรา 77/1(18)(ก), มาตรา 82/5(3), มาตรา 65 ตรี (13)
ข้อหารือ: บริษัท ส. ทำสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ประตูงานรถไฟฟ้ากับ บริษัท พ. ซึ่งเป็น
ตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าว แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดย บริษัท พ. จะเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อ
สินค้าไปยังผู้ขายในต่างประเทศ และให้ บริษัท ส. เป็นผู้นำเข้าสินค้าแทน บริษัท พ.ในการชำระค่า
สินค้า บริษัท ส. จะเปิด L/C ไปยังผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศโดยตรงในนามของ บริษัท ส. เป็น
จำนวนเงินร้อยละ 60 ของค่าตอบแทนทั้งหมดตามสัญญา ส่วนค่าธรรมเนียมการเปิด L/C ค่า
ภาษีอากรขาเข้า ค่า SHIPPING ที่ บริษัท ส. ทดรองจ่ายแทน บริษัท พ. จะหักจากค่าตอบแทนตาม
สัญญาในภายหลัง บริษัท ส. จึงหารือว่า
1. บริษัท ส. จะนำค่าใช้จ่ายในการออก L/C ค่าอากรขาเข้า และค่า SHIPPING มาเป็น
รายจ่ายได้หรือไม่
2. บริษัท ส. จะนำภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้านำเข้ามาถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่
3. กรณี บริษัท ส. ต้องจ่ายค่าตอบแทนส่วนต่างภายหลังจากหักมูลค่า ของสินค้า ค่าอากร
ขาเข้า ค่า SHIPPING และค่าธรรมเนียมการเปิด L/C แล้ว
3.1 ค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นรายได้หรือค่าตอบแทนจากการขายสินค้าของบริษัท พ.
หรือไม่
3.2 ค่าตอบแทนดังกล่าวจะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้ามีจะคิดจากยอดไหน
3.3 บริษัท ส. จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ คิดจากจำนวนใด และอัตรา
เท่าใด
3.4 บริษัท พ. จะต้องออกใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี จำนวนใด และแสดง รายการ
อย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.1 กรณีของผู้ขาย
บริษัท ส. ทำสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งประตูสำหรับงานรถไฟฟ้ากับ บริษัท พ. โดย
ไม่ได้แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8)
แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่
เนื่องจากสินค้าดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และ บริษัท พ. ได้โอนสินค้าให้ บริษัท ส. เป็น
ผู้นำเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร บริษัท พ. ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าส่วนที่
นำเข้าจากต่างประเทศที่โอนให้ บริษัท ส. เป็นผู้นำเข้า มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสีย
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(9) ของ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข
ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่
26 สิงหาคม พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 80)ฯ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ดังนั้น บริษัท พ. จึงต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่า
ของค่าตอบแทนตามสัญญาหักด้วยมูลค่าสินค้าส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งได้โอนให้บริษัท เสริมมิตรฯ
เป็นผู้นำเข้าแล้ว
1.2 กรณีของผู้ซื้อ
บริษัท ส. เป็นผู้กระทำพิธีการนำเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ
เจ้าพนักงานศุลกากร บริษัท ส. จึงมีฐานะเป็นผู้นำเข้า ตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัท ส.ย่อมนำภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวมาถือเป็นภาษีซื้อของ บริษัท ส. ได้ตาม
มาตรา 77/1(18)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนการที่ บริษัท ส. ได้ออกเงินทดรองจ่ายแทน บริษัท พ. ในกรณีต่าง ๆ เช่น
ค่าธรรมเนียมการเปิด L/C ค่าอากรขาเข้า ค่า SHIPPING และจะเรียกเก็บเงินดังกล่าวคืนใน
ภายหลัง โดยหักจากค่าตอบแทนตามสัญญาที่ต้องจ่ายให้บริษัท พ. เงินจำนวนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น
เงินทดรองจ่าย บริษัท ส. ไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่เกิดจากรายจ่ายต่าง ๆ ที่
ทดรองจ่ายแทน บริษัท พ. มาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่ใช่ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการ จึงต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3)
แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
รายจ่ายค่าธรรมเนียมการเปิด L/C ค่าอากรขาเข้า และค่า SHIPPING ที่ บริษัท ส.
ทดรองจ่ายแทน บริษัท พ. บริษัท ส. ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากรายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่าย ซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือ
เพื่อกิจการโดยเฉพาะ ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
บริษัท ส. จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาให้กับ บริษัท พ. โดยหักมูลค่าของสินค้าที่นำเข้า
และหักค่าธรรมเนียมการเปิด L/C ค่าอากรขาเข้า และค่า SHIPPING ที่ทดรองจ่ายแทน บริษัท พ.
การจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินเพื่อชำระค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขาย บริษัท ส. จึงไม่มีหน้าที่
ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
เลขตู้: 66/32365


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020