เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/3410
วันที่: 9 เมษายน 2546
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นสามัญ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ช)
ข้อหารือ: กรณีการจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นสามัญตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้
1. ผู้ซื้อหุ้นตกลงกับผู้ขายหุ้นว่าผู้ขายจะขายหุ้นของตนพร้อมทั้งที่ดิน (ของผู้ขายหุ้น) ที่ผู้ขายหุ้น
จะต้องโอนให้กับบริษัท ข. ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 875 ล้านบาท หากผู้ขายหุ้นตกลงตาม
ข้อเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ซื้อหุ้นจะจ่ายเงินให้กับผู้ขายหุ้น เป็นเงิน 875 ล้านบาท และส่งผลให้บริษัท ข.
ได้รับโอนที่ดินจากผู้ขายหุ้นโดยตรง และเมื่อบริษัท ข. ได้รับโอนที่ดินตามข้อตกลง บริษัท ข. ก็จะจ่าย
เงินในส่วนของมูลค่าที่ดิน 58 ล้านบาทคืนให้กับผู้ซื้อหุ้น เนื่องจากจำนวนเงินที่จ่าย 875 ล้านบาทนั้นได้
ผนวกรวมกับมูลค่าที่ดินที่โอนให้กับบริษัท ข. ไว้เข้าด้วยกันแล้วจึงหารือว่า การที่บริษัท ข. ได้รับโอน
ที่ดินจากผู้ขายหุ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่า บริษัท ข. ได้รับที่ดินโดยมีค่าตอบแทน
ใช่หรือไม่
2. จากข้อ 1. เมื่อผู้ซื้อหุ้นจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้แก่ผู้ขาย ผู้ซื้อหุ้นมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย กรณีผู้ขายหุ้นมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ซื้อหุ้นจะต้อง
คำนวณหาส่วนของเงินได้จากการขายหุ้นดังนี้
เงินได้ที่ตกลงกันทั้งจำนวน 875 ล้านบาท
หัก มูลค่าที่ดิน (ตามราคาประเมิน) ที่ผู้ขายหุ้นโอนให้บริษัท ข. 58 ล้านบาท
คงเหลือมูลค่าหุ้นที่ผู้ซื้อหุ้นจ่ายชำระเพียง 817 ล้านบาท
(โดยประมาณ)
การคำนวณหาเงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
3. กรณีที่ผู้ซื้อหุ้นจะต้องผ่อนชำระค่าหุ้นจำนวน 500 ล้านบาทให้กับผู้ขายหุ้น นั้น ได้ตกลงกัน
ว่าให้ผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 12 ปี 8 เดือน แบ่งชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ
4,158,333 บาท (เงินต้น + ดอกเบี้ย) กรณีดังกล่าวผู้ซื้อหุ้นจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งเมื่อมีการ
จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย
จากจำนวนเงิน 4,158,333 บาท สำนักงานฯ เข้าใจว่าการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังกล่าวถูกต้อง
ใช่หรือไม่
4. กรณีผู้ซื้อหุ้นตกลงยอมโอนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อหุ้น และบ้านซึ่งเป็น กรรมสิทธิ์ของ
บริษัท ข. ที่ก่อสร้างลงบนที่ดินที่จะโอน เพื่อตีชำระหนี้ค่าหุ้นให้แก่ผู้ขายหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200 ล้าน
บาท โดยให้หักชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นดังกล่าวข้างต้น กรณีดังกล่าวตามหลักกฎหมายภาษี ถือว่าผู้ซื้อหุ้นได้ชำระ
ค่าหุ้นด้วยทรัพย์สิน เมื่อผู้ซื้อหุ้นโอนที่ดินและบ้านให้แก่ผู้ขายหุ้นถือว่าผู้ขายหุ้นมีเงินได้พึงประเมินตาม
มาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นจึงมีหน้าที่คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ตามมาตรา
50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในวันโอนที่ดินและบ้านให้แก่ผู้ขายหุ้นนั้น ผู้ขายหุ้นจะต้องนำเงินสดค่าภาษี
หัก ณ ที่จ่ายมาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหุ้น เพื่อให้ผู้ซื้อหุ้นนำส่งกรมสรรพากรต่อไป สำนักงานฯ เข้าใจว่าวิธี
ปฏิบัติดังกล่าวถูกต้องใช่หรือไม่
ข้อตกลงกรณีการโอนบ้านซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท ข. ที่ก่อสร้างลงบนที่ดินของบุคคลธรรมดา
ซึ่งผู้ซื้อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย เมื่อมีการโอนบ้านให้ผู้ขายหุ้น สำนักงานฯ เข้าใจว่าตามกฎหมาย
ภาษีให้ถือว่า บริษัท ข. มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามที่
ประมวลรัษฎากรกำหนด และเนื่องจากบริษัท ข. ได้ตกลงให้ผู้ซื้อหุ้นซึ่งมีฐานะเป็นกรรมการของบริษัท
ข. กู้ยืมเงิน และคิดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเพื่อนำเงินไปชำระค่าซื้อหุ้นแก่ผู้ขายหุ้น ดังนั้น ในวันที่โอน
บ้านและที่ดินให้กับผู้ขายหุ้น จึงถือได้ว่าผู้ขายหุ้นมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ช) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีมี
กำไรจากการขายหุ้นและในวันเดียวกันผู้ขายหุ้นซึ่งเป็นผู้รับโอนบ้านและที่ดิน จะต้องนำเงินสดค่าภาษีหัก
ณ ที่จ่ายมาส่งมอบให้กับผู้ซื้อหุ้น เพื่อนำส่งกรมสรรพากรต่อไป
แนววินิจฉัย: 1. กรณีผู้ซื้อหุ้นตกลงซื้อหุ้นจากผู้ขายหุ้นซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นในบริษัท ข. โดยผู้ขายหุ้นต้อง
โอนที่ดินที่ผู้ขายหุ้นมีกรรมสิทธิ์ให้บริษัท ข. ตามราคาประเมินของกรมที่ดิน กรณีถือได้ว่าบริษัท ข. ได้รับ
ที่ดินมาโดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและ
นิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอน
2. กรณีตาม 2. ถึง 4. ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องแล้ว
เลขตู้: 66/32361


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020