เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.09)/063
วันที่: 10 มกราคม 2546
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการรับคืนเงินกู้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/2(5), มาตรา 91/2, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะฯ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535, มาตรา 329, มาตรา 91/5, มาตรา 91/6(3)
ข้อหารือ: 1. บริษัท ท. ทำสัญญาขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในราคา
157,000,000 บาท โดยบริษัท ม. จะเป็นผู้ติดต่อหาเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการนี้โดย
(ก) ขอหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ต. เป็นจำนวน 15,000,000 บาท เพื่อ
ค้ำประกันให้กับบริษัท ท. ในการขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
(ข) จัดหาเงินทุนให้กับบริษัท ท. เพื่อนำไปจ่ายค่านายหน้าในการขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ
กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 15,700,000 บาท โดยบริษัท ม. ได้รับสินเชื่อทางการเงินจำนวน
ดังกล่าวมาจากธนาคาร ต. และมีดอกเบี้ยที่ต้องชำระต่อทางธนาคาร
(ค) บริษัท ม. เปิดเลตเตอร์ ออฟ เครดิต (L/C) กับธนาคาร ต. ทำการซื้อระบบ
คอมพิวเตอร์ให้กับบริษัท ท. จำนวน 109,999,999 บาท
2. บริษัท ท. ตกลงจัดสรรกำไรที่ได้รับจากการขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ ให้กับบริษัท ม.
เพื่อเป็นการร่วมมือกันดังกล่าว โดยบริษัท ท. ตกลงที่จะจัดสรรเงินได้เป็นจำนวนเงิน 20% ของกำไร
หรือ 3% จากราคาขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าให้กับบริษัท ม. เพื่อเป็น
ค่าตอบแทน ซึ่งการจัดสรรกำไรนี้จะทำหลังจากที่บริษัท ท. ได้รับเงินได้จากการขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ
ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครบ 100% แล้ว
3. บริษัท ม. มีการบันทึกบัญชี ดังนี้
กรณีการจัดหาเงินทุน ตามข้อ 1.(ข) และการเปิดเลตเตอร์ออฟ เครดิต ตามข้อ 1.(ค)
DR. กระแสรายวันธนาคาร ต. XX
CR. เงินกู้จากธนาคาร ต. XX
เมื่อบริษัท ม. จ่ายเงินให้กับบริษัท ท. บริษัท ม. จะบันทึกบัญชี โดย
DR. ลูกหนี้บริษัท ทีซีเอ็ม XX
CR. กระแสรายวัน ธนาคาร ต. XX
เมื่อบริษัท ม. รับชำระเงินกู้คืนจากบริษัท ท.
DR. กระแสรายวัน ธนาคาร ต. XX
CR. ลูกหนี้บริษัท ทีซีเอ็ม XX
4. ในการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกันในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันทำธุรกิจเฉพาะโครงการ
โดยบริษัท ม. มุ่งหวังที่จะได้รับส่วนแบ่งกำไร 20% หรือ 3% ของราคาขาย บริษัท ม. มิได้มีเจตนาจะ
คิดดอกเบี้ยจากการจัดสินเชื่อให้บริษัท ท. แต่อย่างใด ในการบันทึกบัญชี กรณีที่ธนาคาร ต. เรียกเก็บ
ดอกเบี้ยจากบริษัท ม. บริษัท ม. ก็จะเรียกเก็บดอกเบี้ยดังกล่าวจากบริษัท ท. โดยไม่มีการคิดส่วนเพิ่ม
และบริษัท ม. ไม่ได้ถือดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2541 บริษัท ท. ได้ชำระเงินทุนคืนให้แก่บริษัท ม. จำนวน
15,700,000 บาท และชำระคืนอีกจำนวน 31,919,526.18 บาท สำหรับค่าเปิด L/C โดยมิได้มีการ
ชำระเงินค่าดอกเบี้ยที่บริษัท ม. จ่ายทดรองไปให้บริษัท ม. แต่อย่างใด การจ่ายค่าดอกเบี้ย
ค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เกิดขึ้นจะหักคืนเมื่อคำนวณกำไรที่จะจัดสรรหลังจากที่บริษัท ท. ได้รับเงินได้จาก
การขายระบบคอมพิวเตอร์ฯ ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น หากกรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากค่า
ดอกเบี้ย ก็จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัท ท. ชำระค่าดอกเบี้ยให้บริษัท ม. ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการชำระค่า
ดอกเบี้ย แต่อย่างใด
5. ส่วนตรวจสอบภาษีอากร 1 จึงหารือดังนี้
5.1 การที่บริษัท ม. จ่ายเงินทดรองให้กับบริษัท ท. เพื่อช่วยเหลือทางการค้า และ
บริษัท ม. คิดดอกเบี้ยจากบริษัท ท. เท่ากับจำนวนที่บริษัท ม. ถูกเรียกเก็บจากธนาคาร ต. จะถือว่า
เป็นการกู้ยืมเงินที่บริษัท ม. ต้องมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ อย่างไร
5.2 เมื่อบริษัท ท. ได้ชำระเงินทุนและเงินค่าเปิด L/C คืนให้กับบริษัท ม. ซึ่งบริษัท
ม. ได้นำเงินที่ชำระคืนไปลดยอดลูกหนี้ที่เป็นส่วนเงินต้น โดยมิได้ลดยอดลูกหนี้ค่าดอกเบี้ยที่บริษัท ม. ได้
ทดรองจ่ายไปก่อน และบริษัท ม. ไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ การปฏิบัติดังกล่าวของบริษัท ม. ถูกต้อง
หรือไม่ และหากจะถือว่าการชำระเงินทุนและค่าเปิด L/C คืน ได้รวมดอกเบี้ยจ่ายอยู่ด้วย จะมีวิธี
คำนวณดอกเบี้ยอย่างไร
แนววินิจฉัย: 1. การขอหนังสือค้ำประกันในการขายระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการจัดหาเงินทุนเพื่อให้
บริษัท ท. นำไปจ่ายเป็นค่านายหน้าในการขายระบบคอมพิวเตอร์และการเปิด L/C จะกระทำในนาม
ของบริษัท ม. ในฐานะคู่สัญญากับธนาคาร ต. บริษัท ม. มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน
เงินกู้ยืม และดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารฯ ซึ่งในที่นี้คือการจ่ายเงินดังกล่าวแทนบริษัท ท.เพราะข้อเท็จจริง
ปรากฏว่าบริษัท ท. เป็นคู่สัญญาในการขายระบบคอมพิวเตอร์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ม. จะ
มาเรียกเก็บเงินกู้ยืมค่าธรรมเนียมค้ำประกันและดอกเบี้ยคืนจากบริษัท ท. ในภายหลัง การกระทำ
ดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น บริษัท ม. จะคิดดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ เป็นสิทธิของบริษัท
ม. ที่จะกระทำได้ แต่การให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด
โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะ
ประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่กู้ยืมได้ดังนี้
(1) กรณีนำเงินของบริษัท ม. ที่มีอยู่ไปให้กู้ยืม ให้ประเมินดอกเบี้ยที่ควรได้รับตามอัตรา
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารในเวลาที่มีการกู้ยืม
(2) กรณีนำเงินที่กู้ยืมมาจากผู้อื่นไปให้กู้ยืม ให้ประเมินดอกเบี้ยที่ควรได้รับตามอัตรา
ดอกเบี้ยเงินกู้ในเวลาที่มีการกู้ยืม
(3) การให้กู้ยืมไม่เต็มปี ให้คิดตามส่วนของวันที่ให้กู้ยืม
ถ้าเป็นกรณีให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราว ถือเป็นการประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว
ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/13(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1(3)
ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง การกำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียน
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 แต่บริษัท ม. ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่น
แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีนี้
บริษัท ม. สามารถคิดดอกเบี้ยจากบริษัท ท. เพียงเท่าที่ธนาคาร ต. เรียกเก็บจากบริษัท ม. เพื่อนำ
มาคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะนอกจากรายได้ดอกเบี้ยแล้วบริษัท ม. ยังมีรายได้จาก
การจัดสรรกำไรของบริษัท ท. อีกส่วนหนึ่งต่างหาก เจ้าพนักงานประเมินควรใช้อำนาจตามมาตรา 65
ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินดอกเบี้ยพึงได้รับเพียงเท่าที่บริษัท ม. ต้องจ่ายให้แก่ธนาคาร
ต. เป็นดอกเบี้ยที่พึงได้รับ โดยมีเหตุอันสมควร
2. เนื่องจากบริษัท ม. และบริษัท ท. ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือ พบว่าการนำเงินซึ่งบริษัท
ท. ชำระคืนจำนวนตามข้อเท็จจริงไปลดยอดลูกหนี้ที่เป็นส่วนเงินต้น โดยมิได้ลดยอดลูกหนี้ค่าดอกเบี้ยที่
บริษัท ม. ได้ทดรองจ่ายไปก่อนนั้น เป็นการกระทำซึ่งคู่สัญญาไม่มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น
การชำระคืนเงินกู้บางส่วนดังกล่าวจึงถือเป็นการชำระดอกเบี้ยตามมาตรา 329 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบริษัท ม. ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ
3.0 ตามมาตรา 91/5 และมาตรา 91/6(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 66/32200

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020